Design your life by Mutual Fund
ชาคริต พืชพันธ์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันกองทุนรวมที่เป็นทางเลือกในการลงทุนมีหลากหลายประเภทด้วยกัน โดยมีความแตกต่างทั้งในเรื่อง นโยบายการลงทุน ผลตอบแทน และระดับความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนเพื่อประหยัดภาษี และเป็นการออมระยะยาวแล้ว กองทุนประเภท RMF/LTF เป็นทางเลือกที่ควรให้ความสนใจ แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงเคล็ดลับในการลงทุน ท่านผู้อ่านควรทำความรู้จักกับกองทุน RMF และ LTF กันก่อน
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) เป็นกองทุนที่มีจุดประสงค์ที่ต้องการสนับสนุนการออมเพื่อใช้ในวัยเกษียณ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นแรงจูงใจ กองทุนนี้เปิดโอกาสให้ทั้งผู้มีรายได้ประจำ หรือผู้มีสวัสดิการอยู่แล้วแต่ต้องการสะสมเงินออมเพิ่มเติม รวมทั้งผู้ที่ไม่มีสวัสดิการ เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระได้มีโอกาสสะสมเงินเพื่อวัยเกษียณ ทั้งนี้ เงินลงทุนในส่วนนี้จะต้องไม่เกิน 15 % ของเงินได้ในแต่ละปีหรือไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้ว
สำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) เป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ที่เน้นการลงทุนในตราสารทุนเป็นหลัก มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นแรงจูงใจเช่นเดียวกับ RMF แต่มีเงื่อนไขให้ผู้ถือหน่วย ต้องลงทุนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ปี ปฏิทิน ซึ่งเงินลงทุนใน LTF ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่ลงทุนจริงแต่ไม่เกิน 15 % ของเงินได้ในแต่ละปีและต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เคล็ดลับในการลงทุนใน LTF/RMF
1)ศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน
นักลงทุนควรศึกษาผลตอบแทนย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปี เพื่อสะท้อนความสามารถของผู้จัดการกองทุน โดยสามารถศึกษาข้อมูลจากบริษัทที่บริหารจัดการกองทุน รวมทั้งจากบริษัทที่มีการรวบรวมข้อมูล เช่น บริษัท Morningstar (http://www.morningstarthailand.com/th/ ) นอกจากศึกษาในด้านผลตอบแทนแล้ว นักลงทุนควรศึกษาความเสี่ยงและการจัดเรตติ้งของกองทุนนั้นจากบริษัทจัดอันดับ เช่น Morningstar Risk Morning Star Rating เพื่อใช้เป็นข้อมูลก่อนการตัดสินใจการลงทุน
2)ช่วงเวลาในการตัดสินใจลงทุน
- นักลงทุนส่วนใหญ่ชอบซื้อกองทุน LTF/RMF ช่วงเดือนธันวาคม สาเหตุน่าจะมาจาก ไม่มีเวลาในการพิจารณา หรือรอโปรแกรมส่งเสริมการขายช่วงใกล้ๆสิ้นปี ส่งผลให้หุ้นมักขึ้นในช่วงนั้น โดยหากคำนวนผลตอบแทน SET index ตั้งแต่ปี 2543 เฉพาะในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.40% และจำนวนปีที่ SET ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนนี้มีถึง 9 ใน 12 ปี เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ที่ดีอย่างน้อยนักลงทุนควรซื้อก่อนเดือนธันวาคม
- ถ้าหากไม่มีเวลาติดตามมีวิธีที่จะลงทุนอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยม คือลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน หรือที่เรียกว่า Dollar cost averaging หรือ DCA ด้วยการวางแผนการซื้อ LTF/RMF ในวงเงินเท่าๆ กันอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุกๆ เดือนจนครบตามจำนวนเงินที่ต้องการซื้อในหนึ่งปี วิธีการเช่นนี้จะมีประโยชน์คือ นักลงทุนไม่ต้องสนใจสภาพตลาดหุ้นเป็นการลดความเสี่ยงในเรื่องของเวลาในการเข้าซื้อ
- ทางเลือกสำหรับท่านที่มีเวลาติดตามข่าวสาร คือลงทุนเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลง นักลงทุนต้องมีหลักเกณฑ์ว่าตลาดหุ้นปรับตัวลงเท่าไรถึงจะซื้อ และซื้อในสัดส่วนเท่าไร วิธีนี้ต้องมีวินัยอย่างมาก เพราะช่วงเวลาที่ตลาดปรับตัวลงแรงๆ นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าเข้าซื้อ แต่นักลงทุนควรระลึกไว้เสมอการลงทุนใน LTF/RMF เป็นการลงทุนระยะยาว
ข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวังในการลงทุน
- ควรจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการลงทุน และเลือกกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเหมาะกับความเสี่ยงในการลงทุนที่ผู้ลงทุนรับได้ นอกจากนั้นควรศึกษาผลงานของบริษัท คุณภาพในการให้บริการ รวมทั้งการคิดค่าธรรมเนียมจัดการและค่าใช้จ่ายต่างๆให้ถี่ถ้วน
- ควรจะศึกษาเงื่อนไขการขายคืนหน่วยลงทุนอย่างรอบคอบ ในกรณีที่ลงทุนเพื่อประหยัดภาษี
- การลงทุนใน LTF มีกำหนดเรื่องการขายคืนหน่วยลงทุนได้ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง
- การลงทุนใน RMF สามารถระงับการลงทุนได้ปีเว้นปี (นับตามปีปฏิทิน) ยกเว้นปีที่ไม่มีเงินได้ โดยในปีที่ลงทุนจะต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 3% ของเงินได้ หรือ 5000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า นอกจากนั้นจะต้องไม่ได้รับเงินปันผลระหว่างการลงทุน และไม่กู้ยืมจากกองทุนที่ได้ลงทุนไว้
- ควรจะมีการติดตามว่ากองทุนที่เลือกลงทุนนั้นมีการลงทุนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
- การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงและผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นเครื่องยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต