คอลัมน์ Design your life by Mutual Fund
โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
คุณศรชัย สุเนต์ตา รองกรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
ตั้งแต่ปลายปี 2007 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่วิกฤต Subprime ในสหรัฐ ในช่วงปลายปี 2007 จนนำไปสู่วิกฤตภาคธนาคารในปี 2008 เมื่อ Lehman Brother ประกาศล้มละลายเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2008 ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินทั่วโลก เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว (credit crunch) สภาพคล่องหดหาย เพื่อสู้กับปัญหาธนาคารกลางทั่วโลกประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้องทั้งร่วมมือกันอัดฉีดสภาพคล่อง ในขณะที่รัฐบาลในหลายประเทศต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาล รวมทั้งลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้หนี้สินของรัฐบาลในหลายๆ ประเทศพุ่งสูงขึ้น จนเกิดเป็นวิกฤตหนี้สาธารณะโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยูโรโซน และกำลังส่งผลเป็นลูกโซ่สู่ภาคธนาคารซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ
วิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้จึงมีการเชื่อมโยงถึง 3 วิกฤตซ้อนกัน ได้แก่ 1) วิกฤตหนี้สินภาครัฐ ซึ่งมีหนี้สาธารณะมากล้นพ้นตัว 2) วิกฤตภาคการธนาคาร ซึ่งขาดสภาพคล่อง ขาดทุนมากจนอาจต้องเพิ่มทุน 3) วิกฤตในภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่ง GDP หดตัวและคนตกงานสูงต่อเนื่อง ดังนั้นวิกฤตหนี้ยุโรปครั้งนี้จึงยังคงยืดเยื้อ และธนาคารกลางจะยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจด้วยสภาพคล่องต่อไป หากเป็นวิกฤตทั่วไป รัฐบาลอาจเร่งการใช้จ่ายและลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว แต่ในภาวะปัจจุบัน ภาครัฐมีฐานะทางการเงินย่ำแย่มีหนี้สินจำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงเหลือแต่เพียงธนาคารกลางเท่านั้นที่พอจะพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ได้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำไปอีกสักระยะ อย่างน้อยจากคำสัมภาษณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งยืนยันว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐน่าจะคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกอย่างน้อยถึงกลางปี 2015 ประเทศไทยก็กำลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเช่นกัน การส่งออกขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย และสภาพคล่องสูงมีแนวโน้มจะเคลื่อนย้ายมาสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพสูงกว่า ดังนั้นโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นจึงเป็นเรื่องยาก
ในภาวะเช่นนี้ การหวังแต่ดอกเบี้ยเงินฝากคงไม่เพียงพอ หลายคนกังวลกับวิกฤตเศรษฐกิจเลยไม่กล้าลงทุนอะไรเลย เก็บเงินไว้ในเงินฝากเพราะกังวลต่อความเสี่ยงจากการลงทุน โดยลืมนึกถึงการไม่ลงทุนก็มีความเสี่ยง เช่นกัน ซึ่งก็คือความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ตัวอย่างง่ายๆ ท่านทราบหรือไม่ 10 ปีที่ผ่านมา ราคาไข่ไก่ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% ขณะที่เงินฝากออมทรัพย์ในปัจจุบันให้ดอกเบี้ยประมาณ 1-2% หากยังเป็นแบบนี้ต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า ไข่ไก่จะมีราคาเพิ่มขึ้นถึง 63% ในขณะที่เงินออมเราจะงอกเงยขึ้นเพียง 10-22%(คิดแบบทบต้น) พูดง่ายๆ คือความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ คือการที่เราซื้อของชนิดเดียวกันได้ในปริมาณที่ลดลงนั่นเอง
ดังนั้นเพื่อให้สู้กับภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ เราจึงควรแบ่งเงินมาลงทุนนอกเหนือจากเงินฝาก ซึ่งมีทางเลือกในการลงทุนมากมายโดย เราควรแบ่งเงินลงทุนเป็นหลายๆ ส่วน เช่น
ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาสภาพคล่อง ส่วนนี้ยังคงจำเป็นต้องฝากเงินในลักษณะออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงินที่มีลักษณะคล้ายเงินฝากและสามารถไถ่ถอนเป็นเงินสดได้ทุกวัน ซึ่งแม้ผลตอบแทนจะไม่มากแต่ก็สามารถไถ่ถอนมาใช้เมื่อยามจำเป็น
ส่วนการลงทุนเพื่อทำกำไร อาจเลือกลงทุนในหุ้น ซึ่งผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 15% ต่อปี(รวมเงินปันผลก็ประมาณ 18%) หรืออาจลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาวและตราสารหนี้เอกชนซึ่งหากไม่สามารถซื้อเองหรือมีเวลาคอยติดตามอย่างใกล้ชิด ก็อาจเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมได้
ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกเพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มผลตอบแทนซึ่งมีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะทองคำ น้ำมัน หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้ล้วนมีผลตอบแทนในอดีตค่อนข้างสูง แต่ก็มีความผันผวนสูงเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ลงทุนควรจะมีความรู้และต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงของการลงทุนให้เหมาะกับตัวเองด้วย
การลงทุนในหลายสินทรัพย์ หากมีการจัดสัดส่วนได้เหมาะสมจะช่วยลดความผันผวนและเพิ่มผลตอบแทนได้ ปัจจุบันกองทุนที่มีการผสมสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยผู้จัดการกองทุนได้จัดสรรสินทรัพย์เพื่อรักษาระดับความผันผวนหรือความเสี่ยงของกองทุนให้อยู่ในระดับที่ผู้ลงทุนเลือกได้ โดยมีระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังให้เลือกหลายระดับ ตั้งแต่กองทุนแบบมีความผันผวนน้อย ไปจนถึงกองทุนที่มีความผันผวนมากกว่า แต่ก็ให้ผลตอบแทนมากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งช่วยให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองและมีความสะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ตามก่อนเลือกกองทุน จะต้องมีการประเมินความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตนเองก่อนว่าสามารถยอมรับได้มากหรือน้อย โดยการทำแบบประเมินความสามารถรับความเสี่ยงผู้ลงทุน
โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
คุณศรชัย สุเนต์ตา รองกรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
ตั้งแต่ปลายปี 2007 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่วิกฤต Subprime ในสหรัฐ ในช่วงปลายปี 2007 จนนำไปสู่วิกฤตภาคธนาคารในปี 2008 เมื่อ Lehman Brother ประกาศล้มละลายเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2008 ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินทั่วโลก เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว (credit crunch) สภาพคล่องหดหาย เพื่อสู้กับปัญหาธนาคารกลางทั่วโลกประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้องทั้งร่วมมือกันอัดฉีดสภาพคล่อง ในขณะที่รัฐบาลในหลายประเทศต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาล รวมทั้งลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้หนี้สินของรัฐบาลในหลายๆ ประเทศพุ่งสูงขึ้น จนเกิดเป็นวิกฤตหนี้สาธารณะโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยูโรโซน และกำลังส่งผลเป็นลูกโซ่สู่ภาคธนาคารซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ
วิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้จึงมีการเชื่อมโยงถึง 3 วิกฤตซ้อนกัน ได้แก่ 1) วิกฤตหนี้สินภาครัฐ ซึ่งมีหนี้สาธารณะมากล้นพ้นตัว 2) วิกฤตภาคการธนาคาร ซึ่งขาดสภาพคล่อง ขาดทุนมากจนอาจต้องเพิ่มทุน 3) วิกฤตในภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่ง GDP หดตัวและคนตกงานสูงต่อเนื่อง ดังนั้นวิกฤตหนี้ยุโรปครั้งนี้จึงยังคงยืดเยื้อ และธนาคารกลางจะยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจด้วยสภาพคล่องต่อไป หากเป็นวิกฤตทั่วไป รัฐบาลอาจเร่งการใช้จ่ายและลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว แต่ในภาวะปัจจุบัน ภาครัฐมีฐานะทางการเงินย่ำแย่มีหนี้สินจำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงเหลือแต่เพียงธนาคารกลางเท่านั้นที่พอจะพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ได้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำไปอีกสักระยะ อย่างน้อยจากคำสัมภาษณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งยืนยันว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐน่าจะคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกอย่างน้อยถึงกลางปี 2015 ประเทศไทยก็กำลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเช่นกัน การส่งออกขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย และสภาพคล่องสูงมีแนวโน้มจะเคลื่อนย้ายมาสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพสูงกว่า ดังนั้นโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นจึงเป็นเรื่องยาก
ในภาวะเช่นนี้ การหวังแต่ดอกเบี้ยเงินฝากคงไม่เพียงพอ หลายคนกังวลกับวิกฤตเศรษฐกิจเลยไม่กล้าลงทุนอะไรเลย เก็บเงินไว้ในเงินฝากเพราะกังวลต่อความเสี่ยงจากการลงทุน โดยลืมนึกถึงการไม่ลงทุนก็มีความเสี่ยง เช่นกัน ซึ่งก็คือความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ตัวอย่างง่ายๆ ท่านทราบหรือไม่ 10 ปีที่ผ่านมา ราคาไข่ไก่ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% ขณะที่เงินฝากออมทรัพย์ในปัจจุบันให้ดอกเบี้ยประมาณ 1-2% หากยังเป็นแบบนี้ต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า ไข่ไก่จะมีราคาเพิ่มขึ้นถึง 63% ในขณะที่เงินออมเราจะงอกเงยขึ้นเพียง 10-22%(คิดแบบทบต้น) พูดง่ายๆ คือความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ คือการที่เราซื้อของชนิดเดียวกันได้ในปริมาณที่ลดลงนั่นเอง
ดังนั้นเพื่อให้สู้กับภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ เราจึงควรแบ่งเงินมาลงทุนนอกเหนือจากเงินฝาก ซึ่งมีทางเลือกในการลงทุนมากมายโดย เราควรแบ่งเงินลงทุนเป็นหลายๆ ส่วน เช่น
ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาสภาพคล่อง ส่วนนี้ยังคงจำเป็นต้องฝากเงินในลักษณะออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงินที่มีลักษณะคล้ายเงินฝากและสามารถไถ่ถอนเป็นเงินสดได้ทุกวัน ซึ่งแม้ผลตอบแทนจะไม่มากแต่ก็สามารถไถ่ถอนมาใช้เมื่อยามจำเป็น
ส่วนการลงทุนเพื่อทำกำไร อาจเลือกลงทุนในหุ้น ซึ่งผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 15% ต่อปี(รวมเงินปันผลก็ประมาณ 18%) หรืออาจลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาวและตราสารหนี้เอกชนซึ่งหากไม่สามารถซื้อเองหรือมีเวลาคอยติดตามอย่างใกล้ชิด ก็อาจเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมได้
ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกเพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มผลตอบแทนซึ่งมีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะทองคำ น้ำมัน หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้ล้วนมีผลตอบแทนในอดีตค่อนข้างสูง แต่ก็มีความผันผวนสูงเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ลงทุนควรจะมีความรู้และต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงของการลงทุนให้เหมาะกับตัวเองด้วย
การลงทุนในหลายสินทรัพย์ หากมีการจัดสัดส่วนได้เหมาะสมจะช่วยลดความผันผวนและเพิ่มผลตอบแทนได้ ปัจจุบันกองทุนที่มีการผสมสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยผู้จัดการกองทุนได้จัดสรรสินทรัพย์เพื่อรักษาระดับความผันผวนหรือความเสี่ยงของกองทุนให้อยู่ในระดับที่ผู้ลงทุนเลือกได้ โดยมีระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังให้เลือกหลายระดับ ตั้งแต่กองทุนแบบมีความผันผวนน้อย ไปจนถึงกองทุนที่มีความผันผวนมากกว่า แต่ก็ให้ผลตอบแทนมากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งช่วยให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองและมีความสะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ตามก่อนเลือกกองทุน จะต้องมีการประเมินความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตนเองก่อนว่าสามารถยอมรับได้มากหรือน้อย โดยการทำแบบประเมินความสามารถรับความเสี่ยงผู้ลงทุน