xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนอย่างไร เมื่อสภาพคล่องล้นตลาดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บทความโดย บลจ.ไทยพาณิชย์

โดยหลักการแล้วเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจะนำไปสู่ราคาหุ้นที่สูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจที่อ่อนแอจะนำไปสู่ราคาหุ้นที่ลดลง แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาจะส่งสัญญาณถึงสภาพเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอแต่กลับไม่ได้ทำให้ราคาหุ้นลดลงมากนัก และบางจังหวะยังปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ จึงเกิดคำถามตามมาว่าเพราะอะไร

คำตอบคือ ปัจจัยเศรษฐกิจที่อ่อนแอดังกล่าวถูกกลบด้วยผลของสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากการที่ธนาคารกลางของหลายประเทศนำมาตรการอัดฉีดทางการเงินต่างๆ มาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้สภาพคล่องในตลาดอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการที่นักลงทุนมีมุมมองต่อสินทรัพย์เสี่ยงเปลี่ยนไป โดยกล้ารับความเสี่ยงมากขึ้น (ภาษาวิชาการคือมีการเรียกร้อง risk premium หรือผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยงในระดับที่ต่ำลง) ประกอบกับในช่วงก่อนหน้านี้นักลงทุนทั่วโลกถือเงินสดไว้เป็นจำนวนมากเพื่อรอดูความคืบหน้าของสถานการณ์ที่น่ากังวลต่างๆ ซึ่งเมื่อนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลและตัดสินใจทยอยกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ส่งผลให้เม็ดเงินจากสภาพคล่องส่วนเกินหลั่งไหลไปยังสินทรัพย์เสี่ยง จนทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นสวนกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้นักลงทุนในปัจจุบันอาจเกิดความสับสนว่า สำหรับการลงทุนช่วงนี้ โดยแท้จริงแล้วควรเลือกตัดสินใจลงทุนโดยดูจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ หรือควรดูจากปัจจัยสภาพคล่องดี

ตอบสั้นๆ คือต้องดูทั้งสองอย่าง เพราะปัจจัยเศรษฐกิจมักไม่เปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ดังนั้นจึงมีผลต่อตลาดในระยะยาว แต่หากมองในระยะสั้นปัจจัยเรื่องสภาพคล่องอาจมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์เสี่ยงมากกว่าปัจจัยเศรษฐกิจ เพราะเม็ดเงินที่ถูกอัดฉีดเข้ามาจะถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ทันที

ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่แม้เศรษฐกิจจะอ่อนแอแต่ธนาคารกลางก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดสภาพคล่อง ทำให้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง อย่างเช่น ตราสารหนี้เอกชน ตราสารทุน (หุ้น) และสินค้าโภคภัณฑ์ ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีความน่าสนใจสำหรับการลงทุน โดยมีเหตุผล 3 ประการที่สนับสนุนมุมมองดังกล่าว

1. สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำให้ผลตอบแทนต่ำมาก และจะต่ำไปอีกนาน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำมาหลายปียังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน เนื่องจากภาวะอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกไม่น่าจะฟื้นตัวได้แรงนักในเร็ววัน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน ทั้งพันธบัตรที่มีอายุสั้นและอายุยาว เห็นได้จากเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (yield curve) ที่อยู่ในระดับต่ำ และค่อนข้างแบนราบ

2. นักลงทุนจะแสวงหาสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งข้อนี้เป็นผลต่อเนื่องจากข้อแรก เพราะเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นจะมองหาการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ซึ่งแม้จะเสี่ยงกว่าพันธบัตรรัฐบาลแต่ก็ให้ผลตอบแทนสูงกว่าด้วย อย่างเช่นตราสารหนี้เอกชน ซึ่งการไหลของเงินทุนไปยังตราสารหนี้เอกชนดังกล่าวจะทำให้ตราสารหนี้เอกชนมีราคาเพิ่มขึ้น (ตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ของอะไรที่คนต้องการมากๆ ราคาก็จะเพิ่มขึ้น) ในทำนองเดียวกัน การไหลของเงินทุนไปยังสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ เช่นหุ้น หรือสินค้าโภคภัณฑ์ก็จะทำให้ราคาสินทรัพย์เหล่านั้นเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

3. สภาพคล่องในตลาดมีแนวโน้มจะคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ธนาคารกลางทั่วโลกในขณะนี้ไม่เพียงแต่พร้อมใจกันกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเท่านั้น แต่ยังดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและป้องกันความเสี่ยงทางการเงินอื่นๆ ด้วย เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมจะดำเนินมาตรการ Outright Monetary Transactions (OMTs) หรือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะทันทีเมื่อประเทศดังกล่าวเข้าขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุน European Stability Mechanism (ESM) โดย ECB มีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยกดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรหรือต้นทุนทางการเงินให้รัฐบาลของประเทศที่ประสบปัญหาดังกล่าว หรือในกรณีธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็มีการออกมาตรการ Quantitative Easing (QE3) แบบไม่จำกัดวงเงินและระยะเวลา เพื่อมุ่งกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจจนกว่าอัตราการจ้างงานในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น และยังพร้อมอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง หากมีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอื่นในอนาคต

โดยสรุป สถานการณ์เศรษฐกิจที่อ่อนแอในขณะนี้บ่งบอกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลน่าจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน ดังนั้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจำเป็นต้องทำการบ้านมากขึ้น โดยควรมีความเข้าใจในความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจลงทุนในตราสารเหล่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น