คอลัมน์ มนุษย์หุ้น 2.0
โดยชัยภัทร เนื่องคำมา
www.cway-investment.com
ในโลกของนักเก็งกำไร หลายคนคงรู้จักจอร์จ โซรอส นักเก็งกำไรระดับตำนาน และอาจจะเป็นปีศาจในสายตาของใครหลายคน โดยเฉพาะกรณีวิกฤติการเงินปี 40 แน่นอนว่านักเก็งกำไรระดับตำนาน ไม่ได้มีแค่จอร์จ โซรอส ยังมีคนเก่งๆอีกหลายคนที่มีวิธีคิดที่น่าสนใจ ผมจะทยอยสรุปนำมาเขียนให้เพื่อนนักลงทุนได้อ่านกัน แต่วันนี้ของเริ่มจากคนโปรดผม Jesse Livermore เจ้าของฉายา Boy Plunger และ "Great Bear of Wall Street"
Jesse Livermore อาจจะไม่ใช่นักลงทุนเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จมากมาย เพราะชีวิตการลงทุนของเค้าเกือบ 20 ปีค่อนข้างจะผาดโผน มีจุดสูงสุดและจุดต่ำสุด เคยรวยระดับเงินล้านจากตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ และเคยผิดพลาดล้มเหลวจนขาดทุนหมดตัวล้มละลาย มาแล้วเช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนยอมรับในตัว Jesse Livermore คือวิธีคิดการลงทุน และการใช้ระบบเทรดหุ้น ที่ทำให้เค้าสามารถตัดสินใจซื้อขายหุ้นได้อย่างดี และเป็นเพียงไม่กี่คนในยุค คศ. 19 (สมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์แบบปัจจุบัน) ที่นำเอาเทคนิคการจดบันทึกราคาหุ้นเพื่อนำมาคำนวณทางสถิติและความน่าจะเป็น ศึกษารูปแบบราคา เพื่อหาสัญญาณซื้อขายหุ้น
Jesse Livermore เริ่มเข้าวงการหุ้นตั้งแต่อายุ 14 เริ่มจากการเป็นเด็กเดินโพย เขียนกระดานหุ้น ในห้องค้า Webber เมืองบอสตัน เขาเลือกที่หนี้ออกจากบ้าน ทิ้งชีวิตชาวไร่และการทำฟาร์มแบบพ่อและแม่ในเขตชนบทเมือง Shrewsbury,รัฐ Massachusetts
เขาเป็นคนชอบจดบันทึก Jesse Livermore ได้จดบันทึกราคาหุ้น และสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เมื่อทำงานได้สักระยะเขาเริ่มที่จะเข้าไปซื้อขายหุ้นเก็งกำไรในห้องค้าเถื่อนหรือบัคเก็ทช็อป(นอกตลาดหุ้น) จนเมื่ออายุ 15 ปีทำกำไรได้มากถึง 1000 เหรียญ และยังทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องจนมากถึง 10000 เหรียญตอนอายุ 20 ปี สุดท้าย บัคเก็ทช็อปต้องขาดทุนจน ไม่ยอมรับการซื้อขาย จากเขาทำให้ Jesse Livermore ตัดสินใจจากบอสตันเข้ามานิวยอร์ก เพื่อซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นจริงแบบถูกกฎหมาย
แต่ด้วยความที่ตลาดหุ้น NYSE เป็นตลาดหุ้นใหญ่และเป็นของจริง มีนักลงทุนจำนวนมากที่เทรดหุ้น ทำให้ Jesse Livermore ยังไม่คุ้นชินกับสภาพตลาดและการเคลื่อนไหวของราคาแบบนี้ เขาจึงประสบปัญหาการขาดทุนจนเงินทุนเหลือเพียงไม่กี่ร้อยเหรียญ จนต้องกลับไปเก็งกำไรหุ้นในบัคเก็ทช็อปอีก เพื่อหาเงินทุนมาลงทุนต่อ
ช่วงอายุ 20 - 27 ปี เขาก็ไม่ต่างอะไรกับนักลงทุนรายย่อยอื่นๆ มีได้กำไรมีขาดทุน จนเกือบหมดตัว แต่เขาก็พยายามที่จะเรียนรู้และยังคงจดบันทึก เพื่อศึกษาภาวะตลาดหุ้น และศึกษาพฤติกรรมหุ้น ต่างๆอย่างต่อเนื่อง จนปี 1906 เขาสามารถทำกำไรจากการ Short Sell หุ้นมากถึง 250000 เหรียญ ด้วยลางสังหรณ์และการคาดการณ์ภาวะตลาดจากที่เขาสังเกต ตามมาด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในซานฟานซิสโก ในช่วงนั้น Jesse Livermore เริ่มมีเงินมากพอที่จะซื้อรถ ซื้อบ้าน และใช้ชีวิตแบบหรูหรา ฟุ่มเฟือย ตอนมาปี 1907 เมื่ออายุ 30 ปี เขาสามารถทำกำไรจากการ Short Sell ในช่วงตลาดขาลงรุนแรง มากถึง 3 ล้านเหรียญเพียงไม่กี่วัน จนถึงขนาดวาณิชธนกิจรายใหญ่แบบ JP Morgan
ยังต้องขอร้องให้เขาหยุดทำการขายซ๊อตหุ้น เพราะกลัวว่าจะเกิดวิกฤติตลาดหุ้นจะรุกรามใหญ่โต ประกอบกับสถาบันการเงินก็เริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง แน่นอนว่าเมื่อมีได้ก็ต้องมีเสีย Jesse Livermore ลิ้มรสของการเป็น เศรษฐีเงินล้านหรือ millionaire ได้เพียงแต่ปีกว่า เพราะปี 1908 เขาต้องขาดทุนจากการเก็งกำไรในตลาดฝ้าย เพียงเพราะเขาเชื่อซื้อขายสัญญาฝ้ายตามกูรู Percy Thomas จนสุดท้ายต้องหมดตัว
แต่ด้วยชื่อเสียงและความสามารถที่หลายคนเชื่่อถือทำให้ Jesse Livermore สามารถใช้เครดิตบวกกับเงินกู้ มาลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อเก็งกำไรได้อีก จนเขาเริ่มที่จะสร้างกำไร และเริ่มสะสมเงินทุนไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่สามารถทำเงินทั้งหมดกับคืนมาได้ง่าย แถมยังต้องขาดทุน เพราะสภาวะตลาดหุ้นช่วงนั้นถือว่าเป็นช่วงซบเซา ภาวะเศรษฐกิจอเมริกาแย่ลง
แต่เมื่อปี 1915-1922 เป็นช่วงตลาดกระทิงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ( World War I bull market) Jesse Livermore ทำกำไรจากตลาดหุ้นได้อย่างมากมาย ถึงระดับ 3 ล้านเหรียญ จนเขาสามารถปลดหนี้สินทั้งหมดที่มีก่อนหน้า
และมีเงินมากพอซื้อพันธ์บัตรรัฐบาลอังกฤษและสร้างกองทุนสำหรับครอบครัว เพื่อเป็นหลักประกันอนาคต
ช่วงปี 1922 Jesse Livermore อายุ 45 ปีเขาได้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวิธีคิด เทคนิคและประสบการณ์ในตลาดหุ้นกับนักข่าวชื่อ Edwin เพื่อตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ลงคอลัมน์รายสัปดาห์ในหนังสือพิมพ์ The Saturday Evening Post และบทความเหล่านั้นเองที่ภายหนังได้ถูกนำมารวมเล่มทำเป็นหนังสือที่โด่งดังชื่อ "Reminiscences of a Stock Operator"
ช่วงปี 1925 -1928 เป็นปีทองของ Jesse Livermore เขาทำกำไรทั้งจากตลาดหุ้นและตลาดสินค้าเกษตร ได้กำไรจำนวนมากหลายสิบล้านเหรียญ โดยเฉพาะในปี 1929 เขาทำการ short selling หุ้นครั้งใหญ่จากการถล่มของตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงวิกฤติการเงิน Great Depression หรือวิฤตฟองสบู่วอลสตรีท ทำให้เขาได้กำไรรอบนั้นมากกว่า 100 ล้านเหรียญ ชีวิตของ Jesse Livermore หลังจากนั้นก็ยิ่งหรูหรา เขามีคฤหาสหลังใหญ่ มีเรือยอช มีทุกสิ่งที่เศรษฐีจะมีได้ แต่ชีวิตเขาก็ใช่ว่าจะมีความสุข เพราะปัญหาจากลูก ที่ติดยาเสพติด ชอบปาร์ตี้ และจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ทำให้ตัวเขาเองเป็นคนที่ล้มเหลวในชีวิตในชีวิตครอบครัว และส่งผลให้เกิดความเครียด และกลายเป็นโรคซึมเศร้า
ประกอบกับวัย 56 ปีเขาได้รับการวินิฉัยโรคจากหมอว่าเป็นโรคความจำเสื่อมแบบเฉียบพลัน และมีโอกาสจะเป็นโรคสมองเสื่อม หลังจากนั้นไม่นาน Jesse Livermore ก็ประสบกับปัญหาการขาดทุนจากหุ้นอย่างหนักจนหมดตัว Jesse Livermore ถึงแม้จะขาดทุนอย่างหนักแต่ยังพอมีเงินจากกองทุนและผลตอบแทนจากพันธ์บัตรทำให้เขาสามารถ ใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบาก แต่ไม่สามารถกลับมาสร้างผลกำไรได้เหมือนเดิม
สุดท้ายวันที่ 28 พย. 1940 Jesse Livermore ได้ยิงตัวตายที่โรงแรม Sherry Netherland Hotel ใน Manhattan โดยทิ้งข้อความสุดท้ายให้กับภรรยาไว้ว่า
“My dear Nina: Can’t help it. Things have been bad with me. I am tired of fighting. Can’t carry on any longer. This is the only way out. I am unworthy of your love. I am a failure. I am truly sorry, but this is the only way out for me. Love Laurie
ซึ่งสุดท้ายหลังจากเขาเสียชีวิต เขามีทรัพย์สินอยู่ประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ พิจารณาจากประสบการณ์ที่เขาถ่ายทอดลงในหนังสือ แง่คิดมากมายที่ได้จากรับจาก Jesse Livermore ก็มีประโยชน์ไม่น้อยกับนักลงทุนรุ่นหลัง ส่วนตัวผมชอบแนวคิดหลักของเขาคือ เรื่องการอย่าขาดทุน (แม้บางครั้งเขาเองจะไม่สามารถรักษาเงินทุนได้ แต่เขาเองก็ยัง พยายายามรักษาจุดยืน การตระหนักถึงความเสี่ยงนี้อยู่) รวมไปถึงการตัดขาดทุน(Cutloss) ที่สมัยนั้นมีคนใช้แนวคิดนี้ไม่มาก
Jesse Livermore เป็นคนที่ตัดขาดทุนเร็ว เขาคำนวณราคาตัดขาดทุนล่วงหน้าเสมอ เขายอมเสี่ยงที่จะซื้อหุ้นทีละน้อยๆ เพื่อดูความแข็งแกร่งของราคาหุ้น ถ้าผิดทางก็ไม่เสียดายที่ขาดทุนเล็กน้อย แต่กรณีที่หุ้นนั้นอ่อนแอหรือไหลลง เขาก็จะตัดขาดทุนทันที ไม่มีการซื้อถั่วเฉลี่ย รวมถึงบางครั้งถ้าการตกลงมีกำลังมาก เขาก็จะทำการ short sell หุ้นตัวนั้น
อีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือ Jesse Livermore เป็นคนที่ไม่ลงทุนในหุ้นหลายตัว เขาเน้นที่การโฟกัสไปที่หุ้นบางตัว และใช้เวลาในการศึกษา ติดตามพฤติกรรมราคาหุ้น จนเข้าใจ จึงทำการทยอยซื้อลงทุน และยอมปล่อยให้กำไรเติบโตขึ้นเรื่อยๆตามแนวโน้มราคาหุ้น (Let's profit run) สุดท้ายคือแนวคิดการรักษากำไรไว้ในรูปเงินสด เพื่อเป็นทุนสำรอง ไว้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่นำเงินกำไรไปเล่นในหุ้นต่อเนื่องจนหมด
Jesse Livermore อาจจะจะไม่ได้จบแบบสวยหรู แถมหวือหวา และเขาเองยังมองว่าชีวิตตัวเองนั้นล้มเหลว แต่ถ้าเราพิจารณาเรื่องราวที่ผ่านมาของเขาดีๆ จะพบว่าแง่คิดต่างๆนั้นเป็นเรื่องคลาสิกและยังสามารถประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบัน ที่สำคัญหลายข้อผิดพลาดของเขา ยังเป็นบทเรียนที่ดีสอนใจ เราได้อีกด้วย ถ้าต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมแนะนำเพื่อนๆนักลงทุน ลองหาหนังสือ "Reminiscences of a Stock Operator" มาอ่านดูครับ
It isn't as important to buy as cheap as possible as it is to buy at the right time.
Jesse Livermore