คอลัมน์ Design Your Life by Mutual Fund
โดยจิตวิสุทธิ์ พู่มนตรี
นักวิเคราะห์การลงทุนอาวุโส
ฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์การลงทุน
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
www.mfcfund.com โทร. 0-2649-2000
ในยามอยู่ในภาวะวิกฤตการณ์ดังเช่นอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ละคนต่างเลือกวิธีที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวแตกต่างกันออกไป บางคนเลือกที่จะไม่เสี่ยงโดยการอพยพไปอยู่จังหวัดที่ปลอดภัย บางคนเลือกที่จะสร้างสิ่งป้องกันบ้าน และสำรองอาหารไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง ในขณะที่บางคนอยู่กับความเสี่ยงโดยที่ไม่ป้องกันเพราะคิดว่าวิกฤตดังกล่าวจะมาไม่ถึงตน หากความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงแค่ทรัพย์สิน เงินทอง เราก็ยังพอที่จะหาใหม่ได้ แต่เป็นเรื่องน่าเสียใจที่หลายๆ ท่านกลับต้องสูญเสียชีวิตของคนสำคัญไป อันเนื่องมาจากการขาดความเตรียมพร้อม และการตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
หากการยังมีลมหายใจเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต เพราะนั่นหมายความว่าเรายังสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เปรียบเทียบกับการลงทุนแล้ว การรักษาเงินลงทุนของเราไว้ให้ปลอดภัยก็ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง แม้แต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ยังเคยกล่าวเอาไว้ว่า กฎข้อที่หนึ่งของการลงทุน คือจงอย่าขาดทุน และกฎข้อที่สองของการลงทุน คือจงอย่าลืมกฎข้อหนึ่งเป็นอันขาด
ทำไมการระวังไม่ให้เกิดการขาดทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญ?
ประการแรก การทำให้เงินทุนกลับมาหลังจากขาดทุนนั้น ยากเสียยิ่งกว่าการสร้างผลกำไร นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมีความเชื่อที่ว่าตนเองนั้นยอมเสี่ยงเพื่อที่จะได้รับผลกำไรมหาศาล หากจะต้องขาดทุนบ้างคงไม่เป็นไร แต่ในความเป็นจริงแล้วนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือ จอร์จ โซรอส กลับมุ่งเน้นไปที่การลงทุนที่จะไม่ก่อให้เกิดผลขาดทุนเสียมากกว่าการหาผลกำไรจากการแบกรับความเสี่ยง เนื่องจากร้อยละของผลขาดทุนที่เกิดขึ้นกับเงินลงทุนนั้นจะต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคตที่ในอัตรามากกว่าเพียงเพื่อที่จะกลับมาเท่าทุน เช่น หากนักลงทุนขาดทุนร้อยละ 50 ของเงินทุน นักลงทุนคนนั้นจะต้องสร้างผลกำไรให้ได้ถึงร้อยละ 100 และหากผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ร้อยละ 14 ต่อปี นักลงทุนคนนั้นจะต้องใช้เวลา 6 ถึง 7 ปี เพียงเพื่อที่จะทำให้เงินลงทุนนั้นกลับมาเท่าเดิม นักลงทุนบางท่านจึงอาจแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเงินลงทุนทดแทนส่วนที่เสียไป แต่หากนักลงทุนท่านนั้นไม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติในการลงทุนแล้ว ในท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะไม่แตกต่างไปจากเดิม
ประการที่สอง นักลงทุนทั่วไปมักจะคำนึงผลกระทบจากการขาดทุนเพียงแค่มูลค่าของเม็ดเงินในปัจจุบัน แต่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจะตระหนักถึงความเสียหายต่อผลตอบแทนในอนาคตที่เขาสามารถสร้างได้หากไม่สามารถรักษาเงินลงทุน ณ ปัจจุบันเอาไว้ วอร์เรน บัฟเฟตต์กล่าวถึงการตัดสินใจเลวร้ายที่สุดในชีวิตของเขานั้นว่าอาจจะเกิดขึ้นเมื่อตอนที่เขาอายุ 21 ปี ในตอนนั้นเขาได้สูญเสียเงินประมาณ 20% ของความมั่งคั่งทั้งหมดที่เขามีไปกับ service station แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่ถ้าเขาไม่ต้องสูญเสียไป เงินจำนวนดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน
เมื่อนักลงทุนตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความมั่งคั่งด้วยการไม่ขาดทุนมากกว่าการแสวงหาผลกำไรแล้ว คำถามต่อมาจึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรการลงทุนจึงจะไม่ขาดทุน หัวใจของคำตอบอยู่ที่การบริหารความเสี่ยง หนังสือ The Winning Investment Habits of Warren Buffett and George Soros เขียนโดย Mark Tier ได้กล่าวถึงกลยุทธ์ในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของจอร์จ โซรอส ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวมีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ ทั้งนี้ผู้เขียนจะขอเรียบเรียงโดยสรุปออกมาเป็น 3 ข้อ
กลยุทธ์ข้อที่ 1 อย่าลงทุน กลยุทธ์ในข้อนี้ฟังดูง่าย แต่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุดสำหรับนักลงทุน ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนมืออาชีพอย่างผู้จัดการกองทุน การไม่ลงทุนไม่ได้หมายถึงการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมการลงทุน แต่หมายถึงเมื่อใดก็ตามโอกาสแห่งการลงทุนยังไม่เกิดขึ้นจงอย่าลงทุน นักลงทุนหลายๆ ท่านโดยเฉพาะคนที่ลงทุนในหุ้นมักจะมีนิสัยที่คล้ายกันหนึ่งอย่างคือ จะต้องถือหุ้นอยู่ตลาดเวลา แม้แต่ในช่วงตลาดขาลง นักลงทุนเหล่านี้อาจจะเลือกถือหุ้นกลุ่ม Defensive ที่มีความผันผวนน้อย แทนหุ้นที่ตนเคยถืออยู่ แต่แท้ที่จริงแล้วการกระทำดังกล่าวเพียงแค่ช่วยลดความรุนแรงผลขาดทุนในอนาคตเท่านั้น ไม่ได้หยุดผลขาดทุน จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ถ้านักลงทุนทิ้งเงินไว้ในพันธบัตรระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง เพื่อรอจังหวะที่เหมาะสมในการกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้ง
กลยุทธ์ข้อที่ 2 ลดความเสี่ยง สำหรับกลยุทธ์ในข้อนี้นักลงทุนจะต้องลืมความเชื่อที่ว่ายิ่งเสี่ยงมากยิ่งจะทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูง เพราะการลงทุนไม่ใช่การพนัน หัวใจของการลงทุนนั้นจริงๆ แล้วอยู่ที่การประเมินมูลค่าของสิ่งที่ตนเองต้องการจะลงทุน นักลงทุนแต่ละท่านอาจมีวิธีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การศึกษา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ในวิธีการนั้นๆ อย่างถ่องแท้ เพราะการลงทุนในสิ่งที่เราไม่รู้จักถือว่าเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุด เมื่อนักลงทุนสามารถประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่ตนเองสนใจได้แล้ว วิธีการที่จะลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ดีที่สุดจึงอยู่ที่การเลือกซื้อสินทรัพย์ที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ประเมินมากๆ เพราะนั่นจะทำให้โอกาสที่จะขาดทุนจากการลงทุนครั้งนั้นๆ ต่ำ
ในขณะมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกำไรจำนวนมหาศาลจากการลงทุน วอร์เรน บัฟเฟตต์เรียกสิ่งนี้ว่า “Margin of Safety” นักลงทุนที่อยากจะประสบความสำเร็จจึงควรมองหาการลงทุนที่มีทั้งโอกาส และขนาดของผลกำไรมากกว่าผลขาดทุน และอย่าลืมว่าเมื่อใดก็ตามที่เราไม่สามารถเลือกสินทรัพย์ที่น่าลงทุนได้ จงทำตามกลยุทธ์ในข้อที่ 1 คือ อย่าลงทุน
กลยุทธ์ข้อที่ 3 ตื่นตัวกลยุทธ์ในข้อนี้อาจจะมีความสำคัญน้อยต่อนักลงทุนที่สามารถปฏิบัติตามกลยุทธ์ในข้อที่ 1 และ 2 ได้อย่างเคร่งครัด แต่จะจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับคนที่ทำอาชีพ trader ที่โดยมากจะต้องอยู่กับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเราอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะต้องติดตามข้อมูล ข่าวสารอยู่เสมอ และจะต้องเตรียมแผนการรองรับเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่คาด การตัดผลขาดทุน (Cut loss) ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญเพื่อควบคุมให้ผลขาดทุนนั้นอยู่ในขอบเขตที่จำกัด จนกว่าเราจะพบโอกาสในการลงทุนครั้งใหม่ นอกจากนี้ การมีสติรู้ตัวอยู่เสมอถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะความเสี่ยงและความสูญเสียนั้นเป็นของคู่กัน
เมื่อเราเลือกที่จะเสี่ยงแล้วเราจำเป็นที่จะต้องยอมรับความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น และเมื่อความสูญเสียเกิดขึ้นแล้วจงอย่าให้อารมณ์ ความรู้สึกเสียใจเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจลงทุน เพราะมันอาจจะทำให้นักลงทุนขายสินทรัพย์นั้นไปในช่วงที่แย่ที่สุด และไม่กล้าที่จะตัดสินใจลงทุนครั้งใหม่แม้จะมีโอกาสที่ดีอยู่ตรงหน้า ดังนั้นแล้ว ทางที่ดีที่สุดคือการยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และปฏิบัติตามกลยุทธ์ในข้อ 1 และ 2 อย่างมีสติ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนหรือการใช้ชีวิตท่ามกลางภาวะวิกฤต การระมัดระวังไม่ให้เกิดความสูญเสียถือเป็นสิ่งสำคัญ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนที่ต้องการสร้างความมั่งคั่ง และมีส่วนช่วยให้นักลงทุนประสบความสำเร็จในการลงทุน
ความคิดเห็นและข้อความต่างๆ ในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมเตรียมพบกับเทศกาล ตลาดนัดกองทุนรวม : Mutual Fund Fair @ Central World พบกับ บลจ.ชั้นนำ 18 แห่งที่จะมาให้คำปรึกษาและบริการด้านการลงทุน พร้อมโปรโมชันต่างๆ มากมาย และร่วมฟังสัมมนาเจาะลึกกับผู้จัดการกองทุนมืออาชีพตลอด 4 วัน งานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 ก.ค. 2555 เวลา 10.00-20.00 น. บริเวณชั้น 1 Eden Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์