คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ.บัวหลวง
การลงทุนระยะยาวในทุกวันนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าเดิมจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้มีเงินออมต้องการสร้างความมั่งคั่ง แสวงหาช่องทางการลงทุนใหม่นอกจากการฝากเงินที่ให้ดอกเบี้ยต่ำติดดิน พอเริ่มแสวงหา ก็เริ่มศึกษาทำให้เข้าใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น ประกอบกับข้อมูลข่าวสารในทุกวันนี้ก็มีมากมาย ทั้งมีเรื่องราวของผู้ประสบความสำเร็จในหุ้นให้เห็นเป็นแบบอย่าง จึงมีความมั่นใจมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนไม่น้อยเลยที่ยังสับสนว่าตนเองเหมาะที่จะเป็นนักลงทุนระยะยาวหรือไม่
คนจะมั่งคั่งได้ก็ต้องวางแผนทางการเงินเป็นเพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะมีเงินพอใช้ตามต้องการจนถึงวัยเกษียณ ไม่ต้องไปพึ่งคนอื่นส่วนการจะมั่งคั่งได้นั้น ก็ต้องมีวินัยในการออมและต้องทำตามแผน ซึ่งส่วนหนึ่งก็คิอต้องมีการลงทุนระยะยาว
แล้วแค่ไหนถึงจะเรียกว่าลงทุนระยะยาว ... 1 เดือนนี่ยาวพอไหม ?
ผู้จัดการกองทุนต่างประเทศคนหนึ่งที่ลงทุนเฉพาะหุ้นในตลาดไทย บอกว่า เขาลงทุนตลาดหุ้นไทยได้แค่ช่วงสั้นๆ ตลาดเกิดใหม่หรือ Emerging Market ไม่ใช่ที่ที่ควรลงทุนยาวๆ ดังนั้น โดยเฉลี่ยแล้วการลงทุนสั้นๆ ของเขาต่อหุ้นไทย 1 ตัวคือประมาณ 3 ปี
3 ปี คือระยะสั้นของเขา ไม่ใช่แค่ 3 วัน หรือ 3 ชั่วโมงแบบที่คนไทยคิด
การลงทุนระยะยาวนั้นควรมีเวลาลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี และต้องไม่หวั่นไหวกับความผันผวนของผลตอบแทนในช่วงสั้นที่ถูกกระทบจากเศรษฐกิจ การเมือง หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงชั่วคราว ไม่แน่ไม่นอน
การลงทุนระยะยาวนั้นมีกฏข้อแรกคือ ให้คาดหวังถึงผลตอบแทนหรือมูลค่าที่แท้จริงในอนาคตเป็นหลักชัย และต้องไม่ว่อกแว่กหวั่นไหวในระหว่างทาง
ส่วนเงินที่จะเอาไปลงทุนนั้นก็ต้องเป็นส่วนที่แม้จะเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะไม่ดึงมาใช้ เพราะมีส่วนอื่นเตรียมไว้แล้ว เงินส่วนนี้เรากันเอาไว้เพื่อลงทุนระยะยาวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนที่สนใจจะต้องประเมินก่อนว่าตัวเราเหมาะกับการลงทุนระยะยาวหรือไม่ ลงยาวเกิน 5 ปีได้ไหม อดทนเพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคตไหวหรือไม่ เพราะเป้าหมายของการลงทุนระยะยาวไมใช่การหวังกำไร ในวันนี้พรุ่งนี้ แต่เป็นเป้าหมายชของกำไรเป็นกอบเป็นกำในอนาคตอันยาวไกล
ที่สำคัญก็คือต้องถามตนเองด้วยว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน ซื้อหุ้นไปแล้ว หัวถึงหมอนนอนหลับสบายหรือไม่ เห็นหุ้นที่ซื้อราคาลดลงจนขาดทุนแล้วสติแตกไหม
หากรับไม่ได้ เครียด สติแตก หัวใจจะวาย คุณก็ไม่เหมาะกับการลงทุนในหุ้นหรือในสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ที่อ่อนไหวไปตามภาวะตลาดในระยะสั้น แม้มันจะดีกว่าในระยะยาว เพราะหากขืนดื้อรั้นลงทุนไป คุณอาจไม่มีชีวิตอยู่จนได้รับผลดีๆ ของการลงทุนในอนาคตที่ยาวไกล
ประโยคที่ว่า “เราสามารถสร้างความมั่งคั่งได้จากการลงทุนระยะยาว” ยังคงสามารถพิสูจน์ได้ในปัจจุบัน เพราะความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดขึ้นได้จากผลของเงินหรือผลตอบแทนที่ทบต้น (Power of Compounding) ทั้งจากเงินปันผล และจากกำไรในการขายหุ้น (Capital Gain) ซึ่งตั้งแต่จัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ไทยเมื่อปี 2518 จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2555 ผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12.5%ต่อปี
กลุ่ม VI (Value investor) หรือสาวกของ Warren Buffet หรือ Philip Fisher หลายคน พิสูจน์แล้วว่า การลงทุนระยะยาวสร้างความมั่งคั่งได้ดี แม้จะผ่านวิกฤตหลายๆ ครั้ง เช่น ช่วงลอยตัวค่าเงินบาท วิกฤตการเงินของ Lehman หรือวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป เป็นต้น
อีกข้อพิสูจน์หนึ่งจะเห็นได้จากการลงทุนระยะยาวผ่านกองทุน RMF / LTF เพราะกองทุนพวกนี้สามารถผ่านช่วงมาตรการควบคุม Fund Flow ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ปี 2549) วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2551) วิกฤติการเมืองอันนำไปสูเหตุการณ์เผาบ้านเมือง (ปี2553) และวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป (ปี 2553) แล้วยังให้ผลตอบแทนที่ดีได้ เช่น บัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่ตั้งเมื่อปี 2545 โดย NAV ต่อหน่วย เพิ่มจาก 10 บาท เป็นประมาณ 63.18 บาท ณ ปัจจุบัน (เท่ากับผลตอบแทนเฉลี่ย 20.7% ต่อปี) หรือ บัวหลวงหุ้นระยะยาว ที่ตั้งเมื่อปี 2547 มี NAV ต่อหน่วย เพิ่มจาก 10 บาท ไปเป็นประมาณ 26.91 บาท ณ ปัจจุบัน (เท่ากับผลตอบแทนเฉลี่ย 13.5% ต่อปี) ดังนั้น มันก็พิสูจน์ได้ว่า ยิ่งลงทุนนานในหุ้นดีๆ ก็ยิ่งมั่งคั่ง
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าการสร้างความมั่งคั่งที่ดีนั้นจะต้องมีการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างประเภทให้เหมาะสมกับตนเอง และในแต่ละช่วงอายุก็จะมีสัดส่วนการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่ต่างกันได้ เช่น คนอายุน้อยมักให้น้ำหนักลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่มาก และค่อยๆ ปรับลดลงเมื่ออายุมากขึ้น
ทั้งนี้ การกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายๆ อย่าง เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ และ อสังหาริมทรัพย์ จะช่วยลดความเสี่ยง ช่วยลดความผันผวนให้กับพอร์ตการลงทุนโดยรวมได้ ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ต่างประเภทที่เราลงทุนที่มักจะไม่เหมือนกันได้ด้วย เพราะเมื่อตัวหนึ่งกำไรดี แต่อีกตัวหนึ่งอาจขาดทุนก็ได้ เนื่องจากในแต่ละช่วงของเศรษฐกิจนั้น สินทรัพย์แต่ละประเภทอาจจะมีผลตอบแทนที่แตกต่างกัน และไม่มีกูรูคนใดทายถูกว่าตัวไหนจะมาวิน
นอกจากนี้แล้ว ในการลงทุนระยะยาว เรายังต้องติดตามหรือใส่ใจกับ “แนวโน้ม” ของสภาวะตลาดเป็นระยะๆ เพราะความไม่แน่นอนทั้งสภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ หรือนโยบายการเงิน/การคลัง อาจทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนการลงทุนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดไว้ด้วย แต่อย่าลืมว่าเรามองที่Trend หรือ “แนวโน้ม” ไม่ใช่มองรายละเอียดแล้วเต้นตามถี่ยิบเป็นรายวัน เพราะอย่างนั้นไม่ใช่การลงทุนระยะยาวแล้ว