xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News by บลจ.บัวหลวง 2 กันยายน 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

• เบน เบอร์นันเก้ ประธาน FED กล่าวในการประชุมเศรษฐกิจประจำปีที่เมืองแจ็กสันโฮล รัฐไวโอมิง ว่า FED มีโอกาสใช้มาตรกระตุ้นเศรษฐกิจ QE3 ได้หากมีความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและอัตราว่างงานของสหรัฐฯ โดยเชื่อว่าการใช้นโยบายเหล่านี้จะสามารถบริหารจัดการได้และไม่ส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อมากนัก อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้ไม่ได้กล่าวถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้มาตรการ QE3

• เจมส์ บุลลาร์ด ประธาน FED สาขาเซนต์หลุยส์ แนะให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของ FED รอดูข้อมูลเศรษฐกิจให้มากกว่านี้ ก่อนที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญ โดยที่ผ่านมาเขายังไม่เห็นด้วยกับแผนการซื้อสินทรัพย์ใหม่เพิ่มเติม และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลทางเศรษฐกิจในขณะนี้เขาคิดว่าอาจเป็นเรื่องแปลกสำหรับ FED ที่จะดำเนินมาตรการใดๆ

• ยูโรสแตทรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อรายปีของกลุ่มยูโรโซนในเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้นเป็น 2.6% จาก 2.4% ในเดือน ก.ค. โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดการณ์ล่าสุดว่าเงินเฟ้อในยูโรโซนจะชะลอลงมาอยู่ที่ประมาณ 2% ภายในสิ้นปี ส่วนอัตราว่างงานในกลุ่มยูโรโซนของเดือน ก.ค.ทรงตัวที่ 11.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือน ก.ค.ปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 10.1%

• รมต.ตปท.ของเยอรมนีกล่าวว่า สิ่งที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือวิกฤตหนี้ซึ่งขยายไปสู่วิกฤตความเชื่อมั่น ซึ่งการจัดหาสภาพคล่องระยะสั้นเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการแก้ไขวิกฤต ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อนาคตดีขึ้นคือการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ผลพวงของหนี้ แต่เกิดจากความสามารถในการแข่งขัน

และความสามารถในการแข่งขันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยปัจจัยหลัก 3 ประการที่จะช่วยให้ยุโรปผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ได้แก่ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในยุโรป การมีวินัยทางการคลัง และการขยายตัวของเศรษฐกิจ

• ยอดค้าปลีกเยอรมนีในเดือน ก.ค.ลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. และลดลง 1.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1-0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความกังวลมากขึ้นต่อวิกฤตหนี้ยูโรโซน

• ยอดค้าปลีกสเปนในเดือน ก.ค.ลดลง 7.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากปรับตัวลง 5.2% ในเดือน มิ.ย. โดยยอดขายอาหารลดลง 3.6% และยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารรลดลง 9% ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานสถิติสเปนรายงานว่า GDP ในไตรมาส 2 ลดลง 0.4% จากไตรมาสก่อน ซึ่งแสดงว่าเศรษฐกิจของสเปนกำลังประสบภาวะถดถอยรุนแรงขึ้น

• เนชันไวด์ บิลดิ้ง โซไซตี ซึ่งเป็นบริษัทปล่อยสินเชื่อจำนองของอังกฤษ เปิดเผยว่า ราคาบ้านเดือน ส.ค.ปรับตัวขึ้น 1.3% จากเดือน ก.ค. หลังจากลดลง 2 เดือนติดต่อกัน และเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าเป็นผลจากการปรับตัวของตลาดแรงงานในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และผู้บริโภคมีความสามารถมากขึ้นที่จะซื้อบ้านได้ อันเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ

• หอการค้าอังกฤษ (BCC) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของอังกฤษจะหดตัวลง 0.4% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ก่อนหน้าที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 0.1% และได้ลดคาดการณ์ปีหน้าลงสู่ระดับ 1.2% โดยระบุว่าเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว วิกฤตหนี้ยูโรโซน การลงทุนในภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ และมาตรการรัดเข็มขัดภายในประเทศ

• รอยเตอร์ระบุว่า ม.มิชิแกนรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ประจำเดือน ส.ค.ที่ 74.3 จุด เพิ่มขึ้นจาก 72.3 จุดในเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับว่าดีกว่าที่คาด และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน เป็นสัญญาณว่าแนวโน้มธุรกิจสหรัฐฯ น่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เพราะภาคการบริโภคเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

• ก.พาณิชย์สหรัฐฯ รายงานตัวเลขยอดสั่งซื้อของโรงงาน (Factory Orders) ประจำเดือน ก.ค. ว่าเพิ่มขึ้น 2.8% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 1 ปี โดยมีปัจจัยหนุนจากความต้องการของกลุ่มยานยนต์และเครื่องบินที่ขยายตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอดสั่งซื้อสินค้าทุนขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นตัวชี้วัดการใช้จ่ายด้านการลงทุนกลับลดลง 4% เนื่องจากความไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะของภูมิภาคยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของสหรัฐฯ

• Richard Koo (Nomura) ออกจดหมายข่าวถึงผู้ลงทุนว่า Fiscal Cliff ในสหรัฐอเมริกาที่จะมาถึงในต้นเดือน ม.ค.หน้านั้น หากสภาคองเกรสไม่ทำอะไรเลยก็จะส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจยิ่งกว่าที่สำนักงบประมาณกลางของสหรัฐฯ คาดไว้ว่าจะทำให้ถดถอยลงไป -0.5% และยังวิเคราะห์ว่าอัตราว่างงานที่คาดว่าจะพุ่งขึ้นเป็น 9.1% ก็ต่ำเกินไป

ดังนั้น สำนักงบประมาณจึงมองโลกในแง่ดีเกินเหตุ ทั้งนี้ เขาอ้างถึงสถิติที่ญี่ปุ่นเคยพบมาแล้ว

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือน ส.ค.ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 49.2 จุด ลดลง 0.9 จุดจากเดือนก่อนหน้า และเป็นครั้งแรกของปีนี้ที่ดัชนี PMI ลดลงต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนกำลังหดตัวลง

• รมต.คลังญี่ปุ่นประกาศมาตรการพิเศษหลายมาตรการเพื่อลดงบประมาณรายจ่ายบางส่วนของรัฐบาลสำหรับปีงบประมาณนี้ (สิ้นสุดมีนาคม 56) เพื่อเลี่ยงภาวะขาดแคลนงบประมาณ

การประกาศนี้นับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นลดงบประมาณรายจ่ายอย่างเต็มรูปแบบในระหว่างการดำเนินงาน และสถานการณ์ทางการคลังที่ไม่ปกตินี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคต

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเตือนว่า ถ้าไม่มีการบังคับใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว ญี่ปุ่นอาจจะขาดแคลนงบประมาณในการให้บริการด้านบริหารอย่างเร็วที่สุดในเดือน ต.ค.นี้

• ธปท.รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.ว่าได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวลง 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวตามไปด้วย โดยปรับตัวลดลง 5.8%

อย่างไรก็ตาม ความต้องการภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งจากการบริโภคและการลงทุน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 19.5% ทั้งนี้ ธปท.ได้เตรียมพิจารณาปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจลงในวันที่ 5 ก.ย.นี้ โดยจะลดตัวเลขการส่งออกลง

Equity Market

• SET Index ปิดที่ 1,227.48 จุด เพิ่มขึ้น 12.93 จุด หรือ 1.06% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 24,789 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 875 ล้านบาท และดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศจากการเข้าซื้อของนักลงทุนที่คาดว่าประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณการใช้ QE3 ในการประชุมเศรษฐกิจประจำปีที่เมืองแจ็กสันโฮลในวันที่ 13 ก.ย.นี้

Fixed Income Market

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยค่อนข้างทรงตัว โดยเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอยู่ในช่วง -0.01% ถึง +0.01%

Guru Corner

• Marc Faber

เมื่อราคาสินทรัพย์ต่างๆ สูงขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ยิ่งถ่างกว้างขึ้น ลองมองย้อนกลับไป 10 ปีจะเห็นได้ว่าคนอเมริกันที่เป็นชนชั้นกลางในวันนี้มีความเป็นอยู่ที่แย่ลง นี่ก็เพราะเมื่อพิมพ์เงินออกมามันจะให้ผลกำไรดีๆ แก่คนรวยๆ ที่มีสินทรัพย์เท่านั้น เนื่องจากราคาสินทรัพย์จะขึ้น

ความสำเร็จมีได้หลายวิธี เราอาจประสบความสำเร็จทางการเงิน หรือเป็นหมอดีๆ ที่ช่วยเหลือคนที่ยากไร้ และเราก็ประสบความสำเร็จในชีวิตในเรื่องเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ เช่นการเป็นคนสวนที่สามารถรักษาสวนของเจ้านายให้อยู่ในสภาพที่สวยงามสมบูรณ์แบบ ผมไม่ได้วัดความสำเร็จของคนที่ความร่ำรวยเงินทอง เป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ หรือเป็นคนที่มีชื่อเสียง เพราะโชคที่เขาได้นั้นมันไม่เกี่ยว ผมคิดว่าหลังจากผมตายไปสัก 3 ปี คนจะลืมและไม่พูดถึงผมอีกแล้ว

มีการควบรวมกิจการเกิดขึ้นมากมายหลายแห่งในเอเชีย และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ผมไม่เชื่อว่าเราจะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ด้วยการพิมพ์เงิน และโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทั่วโลกมีสูงถึง 100% แล้ว

• Jim Rogers

แร่เงินมีราคาต่ำกว่าจุดสูงสุดที่เคยเป็นมาก่อนถึง 40% ส่วนทองคำต่ำกว่าจุดสูงสุดที่เคยเป็น 10-15%

• Peter Schiff

หาก FED ยังไม่ปล่อยให้เราเกิด Recession (โดยการออก QE3 ) เราจะไม่มีวันฟื้นขึ้นมาจริงๆ สักที ที่จริงแล้ว Recession แม้จะเจ็บปวด แต่มันเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องผ่านเพื่อรักษาอาการที่เป็นอยู่

โดยธรรมชาติแล้วใครๆ ก็อยากรวย และเขาก็ทำได้หากมีอิสรภาพในการทำผลกำไรจากการทำให้คนพึงพอใจในสินค้าและบริการของเขา โดยที่เขาทำงานหนัก ใช้ความฉลาดเฉลียว และสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ผู้ผลิตพยายามผลิตออกมาให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น มันยังทำให้ผู้อื่นอยากจะผลิตสินค้าและบริการมาสนองความต้องการของผู้ผลิตที่ประสบความสำเร็จเป็นทอดๆ ไปด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ก็ถูกก้าวก่ายโดยรัฐบาลที่อาจจะทำไปด้วยความตั้งใจดี แต่ก็เป็นตัวการใหญ่ที่ทำลายอิสรภาพทางธุรกิจด้วยระบบภาษีกับการกำกับจนเกินเหตุ และมันก็พิสูจน์แล้วว่ายิ่งรัฐบาลมีขนาดใหญ่เพียงใด ความยากจนอันวัดที่ GDP ซึ่งไปยังกลุ่มผู้ยากจนก็ยิ่งลดลงเท่านั้น ระดับความยากจนกับขนาดของรัฐบาลจึงมีความสัมพันธ์กันโดยตรง

คนจนก็เพราะเข้าไม่ถึงการจ้างงานและการผลิต ถ้าชาวไร่ชาวนามีที่ดินแต่ไม่เพาะปลูกเขาก็จะอดตาย แต่หากเขาทำนาทำไร่จนผลิตอาหารได้เขาก็จะมีกิน และยิ่งถ้ามีผลผลิตมาก เขาก็จะเอาไปแลกสินค้า บริการอื่นได้ ดังนั้น กุญแจสำคัญในการหนีจากความยากจนจึงเป็นการผลิต และกุญแจสำคัญในการเพิ่มผลิตผลก็คือทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น