xs
xsm
sm
md
lg

ซีไอเอ็มบีโชว์ AUM ครึ่งปีแรกโต 3 ล้าน หลังได้แรงหนุนจากเครือข่ายในภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจิดพันธุ์ นิธยายน
บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โชว์ผลงานครึ่งปี AUM เติบโต 3,000 ล้านบาท คิดเป็น 35% หลังได้รับแรงหนุนจากบริษัทแม่และเครือข่ายในภูมิภาค เผยยุทธศาสตร์รับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในการให้บริการลูกค้า

นายเจิดพันธุ์ นิธยายน ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดและการขาย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2555 บริษัทมีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) เพิ่มขึ้นกว่า 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35 โดยมีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 4 ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม ตั้งแต่ต้นปีบริษัทเสนอขายกองทุนใหม่จำนวน 10 กองทุน โดยแบ่งออกเป็นกองทุนตราสารหนี้ กองทุนทาร์เกตฟันด์ และกองทุนอินคัมฟันด์ (iFund Series)

โดยกองทุนอินคัมฟันด์ หรือ iFund series เป็นชุดกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดพอร์ตการลงทุน อีกทั้งยังตอบโจทย์ทุกความต้องการของนักลงทุนในกองทุนเดียว กล่าวคือ 1. แบบสะสมเงินลงทุน 2. แบบรับเงินปันผล 3. แบบรับซื้อหน่วยลงทุนอัตโนมัติ ปัจจุบันบริษัทมีกองทุน iFund Series แล้วจำนวน 3 กองทุน คือ 1. กองทุน CIMB-PRINCIPAL iPROP ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 2. กองทุน CIMB-PRINCIPAL iDAILY ลงทุนในตราสารหนี้ตลาดเงิน และ 3. กองทุน CIMB-PRINCIPAL iDIV ลงทุนในหุ้นปันผล โดยบริษัทยังมีแผนออกกองทุน iFund Series ที่ลงทุนในทรัพย์สินอื่นเพิ่มเติม เช่น ตราสารหนี้ระยะยาว หรือทองคำ เป็นต้น

จุดเด่นของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด คือได้รับการสนับสนุนด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์จากต่างประเทศจากบริษัทแม่ และเครือข่ายพันธมิตรในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มีทีมวิเคราะห์หลักทรัพย์กว่า 20 คน และทีมผู้จัดการกองทุนกว่า 50 คนทั่วทั้งภูมิภาค แสดงถึงความพร้อมในการเป็นประตูสู่การลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” เจิดพันธุ์กล่าว

นายเจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวถึงมุมมองการลงทุนในประเทศ และภูมิภาคอาเซียนว่า กลุ่มซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย และฟิลิปปินส์ หากดูผลประกอบการในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าผลประกอบการของบริษัทในอาเซียนมีความน่าสนใจจากการเติบโตของกำไรที่สูง และมีความสม่ำเสมอดีพอสมควร รวมไปถึงอัตราเงินปันผลที่น่าสนใจในส่วนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคจะเน้นการควบคุมเงินเฟ้อพื้นฐานมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตผลการเกษตรทั่วโลกในปัจจุบัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เห็นในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะไม่ได้ทำต่อเนื่องมากในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในภูมิภาคน่าจะยังคงทรงตัว และไม่ได้เข้าสู่ภาวะขาขึ้นจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตค่อนข้างช้า

สำหรับการเตรียมความพร้อมของ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ในการเป็นประตูสู่การลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นายเจษฎามองว่า เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของประเทศในการเข้าสู่ยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน 3 ปีข้างหน้าจะมีหลายๆ พัฒนาการที่น่าสนใจ เช่น การอำนวยความสะดวกในการทำการค้ากันภายในภูมิภาค การปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้เอื้อต่อการค้า รวมไปถึงการเชื่อมโยงตลาดทุนของไทยกับตลาดทุนในอาเซียน สำหรับสาขาหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยได้ระบุไว้ใน AEC Blueprint ว่าจะเปิดเสรีภายในปี 2558 โดยให้บริษัทต่างชาติในภูมิภาคอาเซียนเข้ามาถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 100 ในบริษัทเดิมที่มีอยู่แล้ว จะทำให้การแข่งขันในตลาดสูงขึ้น และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้นซึ่งเป็นผลดีต่อนักลงทุน สำหรับ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จัดว่าเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีความพร้อมที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จากการที่มีสาขาอยู่แล้วเกือบทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน และมีทีมผู้จัดการกองทุนดูแลการลงทุนอยู่ทั่วภูมิภาค

“ที่ผ่านมาเรามีการจัดตั้งกองทุนเพื่อไปลงทุนในกองทุนที่บริหารโดยผู้จัดการกองทุนในกลุ่มซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียไปแล้วหลายกองทุน และปีหน้าก็กำลังศึกษาแผนกลยุทธ์ในการที่จะนำกองทุนที่เสนอขายในประเทศไปขายในภูมิภาคเช่นกัน” นายเจษฎากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น