บลจ.ไทยพาณิชย์มองเกณฑ์การเสียภาษีของกองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT อาจไม่ดึงดูดนักลงทุนสถาบันเท่าใดนักหลังประโยชน์การเสียภาษีลดลง พร้อมมองอุตสาหกรรมกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทยยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพานักลงทุนสถาบันอยู่พอสมควร
นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เกณฑ์ของกองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) นั้นเรามองว่าประโยชน์ในเรื่องภาษีของนักลงทุนสถาบันลดลง ดังนั้นในจังหวะนี้การออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของเราจะเน้นไปที่กอง 1 เป็นหลัก และในอนาคตหากการเปลี่ยนจากกอง 1 เป็นกอง REIT แล้วทำให้ประโยชน์ของกองโดยรวมลดลงก็คงไม่เปลี่ยน ยกเว้นในบางกองทุนที่มีความจำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในมาเลเซียตอนที่เริ่มเปลี่ยนจากกองอสังหาริมทรัพย์มาเป็น REIT นั้นทุกฝ่ายได้ประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าเดิม ส่งผลให้ธุรกิจกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในมาเลเซียจึงเติบโตไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งตรงข้ามกับของไทยเพราะนักลงทุนสถาบันจะได้ประโยชน์ลดลง ทั้งนี้ การเติบโตของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องได้รับการลงทุนจากนักลงทุนสถาบันอยู่พอสมควร ซึ่งประเด็นนี้ก็เคยฝากไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วเช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ในอนาคตการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กฎระเบียบในด้านต่างๆ ของธุรกิจกองทุนไทยเองก็คงต้องให้ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย ถึงตอนนั้นถ้าเกณฑ์ของเพื่อนบ้านดีกว่าอาจมีการนำกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของไทยไปตั้งในประเทศเพื่อนบ้านแทนก็ได้ ซึ่งประเทศไทยก็อาจจะเสียโอกาสไปในการที่จะผลักดันให้กองทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทยเติบโตขึ้น ปัจจุบันกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทยให้อัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีเฉลี่ย 7-9% สูงกว่าประเทศในอาเซียนด้วยกันที่ประมาณ 3-5% ดังนั้น เมื่อเปิดเสรีอาเซียนเชื่อว่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ของไทยจะเป็นหนึ่งในโปรดักต์ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจด้วยเช่นกัน
สำหรับผลการดำเนินงานของ บลจ.ช่วงครึ่งแรกของปีนั้น บริษัทมีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) เพิ่มขึ้นเป็น 651,862.08 ล้านบาท จากสิ้นปี 2554 ที่ 584,869.14 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.45% แบ่งเป็นธุรกิจกองทุนรวม 531,108.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.53% ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล 55,935.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.50% และธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 64,818.06 ล้านบาท ลดลง 1.42%
ซึ่งโดยภาพรวมการเติบโตอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และในส่วนของธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในช่วงปลายปีเองนั้นก็คาดว่าจะมีการเติบโตขึ้นมาได้เช่นกัน สำหรับแผนการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทนั้นยังคงเน้นสินทรัพย์ที่อยู่ในทำเลที่ดีที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนซื้อกรรมสิทธิ์ (Free Hold) หรือลงทุนในสิทธิการเช่า (Lease Hold) ก็ตาม ทั้งที่เป็นกองทุนใหม่และเป็นการเพิ่มทุนกองทุนเดิมที่มีอยู่แล้วล้วนอยู่ในแผนงานของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 55 ด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าอาจจะมีให้ได้เห็นอีกอย่างน้อย 1-2 โครงการ
ปัจจุบันบริษัทถือเป็นผู้นำในด้านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) โดยเป็น บลจ.ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในปัจจุบันและมีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในปัจจุบันด้วยเช่นกัน แม้ว่าในระยะอันใกล้นี้บริษัทต้องโอนกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QHPF) กลับไปให้ทาง บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์บริหารก็ตาม แต่จากแผนงานออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทในปีนี้ก็มั่นใจว่าจะทำให้บริษัทยังคงรักษาอันดับ 1 ในธุรกิจกองทุนอสังหาริมทรัพย์เอาไว้ได้ในปีนี้อย่างแน่นอน