บลจ.ไอเอ็นจีประเมินหุ้นไทยยังไปต่อ หลังได้อานิสงส์กำไรบริษัทจดทะเบียนหนุน แนะจับตา QE3 ของสหรัฐฯ ดันเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นเพิ่ม พร้อมโชว์ผลการดำเนินงาน 3 กองทุนให้ผลตอบแทนงามแม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่สดใส
นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีราคาหุ้นไทยตลอดช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีการแกว่งตัวพอสมควร โดยแกว่งตัวอยู่ในช่วงระดับ 1,172-1,228 จุด โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการปรับตัวลดลงไปถึง 30.54 จุด หรือคิดเป็น -2.53% จากความกังวลการแก้ไขปัญหาหนี้ของประเทศสเปน และกรีซ จนดัชนีสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นมายืนอยู่ที่ระดับ 1193.32 จุดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 โดยได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของ ECB ที่จะดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้กลุ่มยูโรโซนสามารถก้าวต่อไป และคาดการณ์ว่า ECB จะเข้าช้อนซื้อพันธบัตรของรัฐบาลในกลุ่มประเทศยุโรป ยังผลให้นักลงทุนคลายความกังวลเรื่องการแก้ไขประเด็นปัญหาเศรษฐกิจของยุโรป เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสเปน และอิตาลีที่ต่างปรับตัวลดลงตามมา
นอกจากนี้ การคาดการณ์ว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มที่จะคงจุดยืนในการดำเนินการนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปในการประชุมรอบที่ 5 ของปี ในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2555 หลังจากที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ในเบื้องต้น ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงหนุนจากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะออกมาดี ยกเว้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากในไตรมาสที่ 2
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งดัชนีราคาหุ้นตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1,036.21 จุด จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะพบว่าดัชนี SET Index เพิ่มขึ้น 14.89% ส่งผลให้กองทุนหุ้นภายใต้การบริหารของ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) สามารถสร้างผลตอบแทนอย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเปิดไอเอ็นจีไทยอีควิตี้ฟันด์ ซึ่งเน้นลงทุนในตราสารทุนที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและผลประกอบการดี และมีแนวโน้มการเจริญเติบโตในอัตราสูง โดยผลตอบแทนของกองทุนนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 อยู่ที่ 20.25% สูงกว่า SET Index ขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ -1.23% ย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 13.39% ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 8.43% ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 321.39% สูงกว่าดัชนีเปรียบเทียบที่ -2.79%, 9.45%, 3.92%, 159.70% ตามลำดับ รวมทั้งกองทุนนี้ได้รับการจัดอันดับ MorningStar Rating (Overall) อยู่ในระดับ 4-Star (ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2555) (www.morningstarthailand.com) จากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี
ขณะที่กองทุนเปิดไอเอ็นจีไทยบาลานซ์ฟันด์ ที่มีนโยบายการลงทุนแบบผสมระหว่างตราสารทุนกับตราสารหนี้ โดยกองทุนจะลงทุนในตราสารทุนไม่น้อยกว่า 35% ส่วนอีกไม่เกิน 65% จะลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งจะกำหนดและปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนตามภาวการณ์ก็เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ โดยผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 อยู่ที่ 15.43% สูงกว่าดัชนีเปรียบเทียบซึ่งอยู่ที่ 8.50% ขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ -0.61% ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 20.10% ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 10.64% ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 363.91% สูงเปรียบเทียบกับดัชนีเปรียบเทียบที่ -0.19%, 5.62%, 5.26%, 127.05% ตามลำดับ อีกทั้งกองทุนนี้ได้รับการจัดอันดับ MorningStar Rating (Overall) อยู่ในระดับ 5-Star มาอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2555) (www.morningstarthailand.com) จากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี
ส่วนกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย มิกซ์ 15/85 ปันผล ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุนในสัดส่วนการลงทุนประมาณ 15% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม กองทุนให้ผลตอบแทน 1.26% และผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 0.45% ในขณะที่ดัชนีเปรียบเทียบซึ่งอยู่ที่ 1.71% และ 1.05% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สนับสนุนให้ผลตอบแทนของกองทุนหุ้นทั้ง 3 กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีแม้จะเผชิญกับภาวะความผันผวนของตลาด มาจากการบริหารการลงทุนแบบ Active Management ซึ่งเป็นการบริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพในลักษณะการวิเคราะห์และคาดการณ์ภาวะตลาดในอนาคต รวมถึงการจับจังหวะการลงทุนที่ถูกต้องเหมาะสม ผสมผสานกับกลยุทธ์ Stock Selection ที่จะเน้นการคัดเลือกหุ้น โดยผู้จัดการกองทุนจะให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานและผลประกอบการดี และมีแนวโน้มการเติบโตในอัตราสูง ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของ บลจ.ไอเอ็นจี ที่ใช้ในการบริหารจัดการกองทุนหุ้นทุนจนประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ มุมมองต่อภาวะการลงทุนในระยะ 1-3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะยังมีความผันผวนอยู่เป็นระยะ โดยมีปัจจัยกดดันมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก เช่น ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มยูโรโซน, ความกังวลในการขอความช่วยเหลือทางการเงินของกลุ่มประเทศ PIIGs รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนแบบ Soft Landing และความไม่ต่อเนื่องของมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ อาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจฯ ในปีหน้ายังอยู่ในภาวะชะลอตัว อย่างไรก็ดี ปัจจัยสนับสนุนในเชิงบวกยังมาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ ความสามารถในการทำกำไรของหลายๆ บริษัท และอุตสาหกรรมยังคงดีอยู่ และน่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการอ่อนตัวลงของเศรษฐกิจโลก สำหรับในระยะกลางถึงยาว คาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจะมีอัตราการเติบโตของกำไร (EPS) ร้อยละ 23% ในปี 2012 และมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 2556-2557 (Bloomberg consensus, 30 มิถุนายน 2012)
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นจะต้องถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากสถานการณ์เหล่านั้นมีการพัฒนาในเชิงบวกมากขึ้น แนวโน้มหุ้นไทยในปีหน้าน่าจะมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก