คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยเศรณี นาคธน
บลจ.บัวหลวง
จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในกลุ่มยูโรโซน จนกลายเป็นปัญหาลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ทำให้ผู้ดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป (EU) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) หรือแม้กระทั่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต้องระดมความคิดเพื่อหาแนวทางในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทางเลือกหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอได้แก่การใช้พันธบัตรยูโร (Eurobond หรือ Stability Bond) ซึ่งเป็นการออกพันธบัตรร่วมกันของประเทศสมาชิกกลุ่มยูโรโซน 17 ประเทศ ด้วยเงื่อนไขความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อช่วยให้ประเทศที่มีปัญหาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยมีภาระต้นทุนที่ลดลง โดยรูปแบบของ Eurobond ที่มีการเสนอขึ้นมา สามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
•Fully Eurobond substitution with joint liability เป็นแนวคิดในการทดแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศกลุ่ม Eurozone ทั้งหมดที่ออกมาก่อนหน้านี้และที่จะออกในอนาคต ด้วย Eurobond โดยพันธะหนี้สินจะถูกโอนถ่ายมาเป็นความรับผิดชอบร่วมของทุกประเทศ
•Partial Eurobond substitution with joint liability เป็นแนวคิดในการใช้ Eurobond เพื่อไปทดแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศกลุ่ม Eurozone เพียงบางส่วนเท่านั้น และจะกำหนดจำนวนที่มากสุดไว้ เช่น 60% ของ GDP ซึ่งพันธบัตรจะได้รับการค้ำประกันร่วมโดยประเทศสมาชิกกลุ่ม Eurozone ทั้งหมด ทั้งนี้ สำหรับหนี้สินระดับที่เกินจากนี้จะต้องออกในรูปแบบของพันธบัตรรัฐบาลของแต่ละประเทศและมีอัตราผลตอบแทนเป็นไปตามความเสี่ยงและสภาวะตลาด
•Partial Eurobond substitution without joint liability เป็นแนวคิดในการใช้ Eurobond เพื่อไปทดแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศกลุ่ม Eurozone เพียงบางส่วนเท่านั้น และพันธบัตรจะได้รับการค้ำประกันร่วมโดยประเทศสมาชิกกลุ่ม Eurozone เพียงบางส่วน โดยส่วนที่เหลืออาจถูกค้ำประกันจากสินทรัพย์ชนิดอื่นแทน
โดยที่ระดับอัตราผลตอบแทน (Yield) ของ Eurobond จะเป็นการเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของแต่ละประเทศใน Eurozone และจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของพันธบัตร เช่น การการันตี อันดับ Credit Rating การไม่ด้อยสิทธิของพันธบัตร แนวทางการปฏิบัติหากมีประเทศใดประเทศหนึ่งที่ร่วมค้ำประกันเกิดผิดนัดชำระหนี้ และความมีเสถียรภาพของพันธบัตร คือ เงื่อนไขของพันธบัตรจะต้องไม่เปลี่ยนไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง
การออก Eurobond ที่มีการออกแบบและการจัดการที่ดี ย่อมมีประโยชน์กับกลุ่มยูโรโซน เนื่องจาก Eurobond เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยควบคุมให้การดำเนินการด้านการคลังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ว่ายังคงมีข้อถกเถียงว่าการใช้ Eurobond ในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเพียงแค่การซื้อเวลาเพื่อให้ตลาดไม่ต้องวิตกกังวลมากนัก แต่ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนั้น อีกหนึ่งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นคือ Moral Hazard หรือ Free-rider หมายถึง ประเทศที่มีปัญหาอาจละเลยการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจหรือระมัดระวังในการใช้จ่าย เนื่องจากมีประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมการีนตีในพันธะหนี้สิน
แนวคิดการใช้ Eurobond ยังคงไม่มีความชัดเจน เมื่อผู้สนับสนุนรายใหญ่อย่างเยอรมนีไม่เห็นด้วย เพราะนอกจากจะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังหมายถึงการลดระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของชาวเยอรมันลงอีกด้วย
สิ่งที่ EU จะต้องระมัดระวังและหาทางจัดการ คือ จะทำอย่างไรให้นักลงทุนมีมุมมองในเชิงบวกกับการลงทุนใน Eurobond เหมือนอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลเยอรมันในปัจจุบันที่ถูกมองว่าเป็น Safe Heaven Asset รวมถึงหาวิธีการป้องกันการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนบางกลุ่มที่เข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มี yield สูงๆ และขายทิ้งเมื่อพันธบัตรนั้นเปลี่ยนเป็น Eurobond แล้ว ด้วย yield ที่ต่ำลง ซึ่งหากมีการเทขายในจำนวนมาก อาจทำให้ yield ไม่ได้ลดลงอยู่ในระดับที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก
นอกจากแนวทางการใช้ Eurobond แล้ว แนวทางอื่นๆ ที่มีการเสนอ เช่น การใช้เงินจากกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility, EFSF) และกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (European Stability Mechanism, ESM) เพื่อเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรและให้เงินกู้ยืมกับรัฐบาลประเทศที่มีปัญหาหรือภาคธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแนวทางนี้ได้ถูกอนุมัติหลักการไปแล้วในการประชุม EU Summit ครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือน มิ.ย. หรือการออกมาตรการระยะสั้นต่างๆ เช่น การควบคุมเงินทุนไหลออก การประกันเงินฝาก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ได้มีการดำเนินการเสนอและดำเนินการในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงมาตรการที่ช่วยบรรเทาปัญหาเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขที่รากฐานของปัญหาที่แท้จริง เนื่องจากการใช้สกุลเงินร่วมกันนั้น หากมีนโยบายการคลังไปในทิศทางเดียวกันก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น และ Eurobond เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้การดำเนินการทางด้านการคลัง
การออก Eurobond ที่มีการออกแบบและการจัดการที่ดี ย่อมมีประโยชน์กับกลุ่มยูโรโซน เนื่องจาก Eurobond เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยควบคุมให้การดำเนินการทางด้านการคลังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสามารถส่งผลให้เศรษฐกิจใน Eurozone มีเสถียรภาพมากขึ้น สุดท้ายแล้ว นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์พร้อมแนวทางการปัญหาที่จะมีการนำมาใช้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุน