ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- หลังผลการเลือกตั้งของกรีซเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนผ่านพ้นไป พรรคประชาธิปไตยใหม่มีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ซึ่งผลการเลือกตั้งในครั้งนี้อาจช่วยให้หายใจโล่งขึ้นในยามที่ผู้คนวิตกถึงการโบกมือลายูโรโซนของกรีซ แต่ยังต้องรอลุ้นการจัดตั้งรัฐบาล เพราะนี่ไม่ใช่ชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามลำพัง
สถานการณ์นี้ คล้ายกับผลการเลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งพรรคประชาธิปไตยใหม่มีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 และพรรคซิริซาตามมาเป็นที่ 2 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญในยามนี้ เพราะกรีซกำลังใกล้ภาวะถังแตกมากขึ้นเรื่อยๆ ประเมินกันว่าภายในวันที่ 15 กรกฎาคม ทางการเอเธนส์อาจไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่าย
ถึงตอนนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีพรรคใดบ้างที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปไตยใหม่ แต่สื่อกรีซประเมินว่าหนึ่งในนั้นน่าจะมีชื่อของพรรคสังคมนิยมปาสก คู่แข่งที่ทำคะแนนมาเป็นอันดับ 3
คำถามต่อมาคือเมื่อกรีซมีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้วสถานการณ์ของกรีซเองและประเทศในกลุ่มยูโรโซนจะเป็นอย่างไร?
นักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างตั้งสมมติฐานกับเหตุการณ์นี้ไว้ใกล้เคียงกัน 3 สมมติฐานหลักประกอบไปด้วย โดยสมมติฐานแรก ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์อย่างเลวร้ายสุดคือจะเกิดการล่มสลายของยูโรโซนอย่างชนิดที่คาดไม่ถึงโดยความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่อาจประเมินค่าได้ สาเหตุหลักก็คือมาจากผลการเลือกตั้งที่ไม่มีใครชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลและเกิดความแตกแยกของชาวกรีกจากนโยบายที่ไม่ชัดเจน
ขณะเดียวกันเงินคงคลังที่ร่อยหรอจนเกือบหมดจะเป็นชนวนปัญหาใหญ่ที่โหมลุกจะไม่สามารแก้ไขได้ จากนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะลุกลามและขยายไปสู่สเปนและอิตาลีที่มีปัญหาหนี้สาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนเยอรมนีพี่ใหญ่ของยูโรโซนเลือกเดินบนทางที่ไม่ผ่อนปรนบีบบังคับให้รัฐบาลกรีซต้องใช้นโยบายการคลังแบบรัดเข็มขัดเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีทางเลือกอื่นให้ ผลที่ตามมาจึงไม่พ้นเศรษฐกิจยุโรปเดินสู่หายนะ ทั้งการผิดนัดชำระหนี้ที่จะตามมา การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย และภาวะถดถอยยาวนานทั่วยุโรป
สมมติฐานต่อมา เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในระดับปานกลางไม่เลวร้ายเท่าสมมติฐานแรกโดยประเทศในกลุ่มยุโรโซนอาจวุ่นวาย แต่ยังสามารถผนึกภาคการเงินและการคลังเอาไว้ได้ได้ ซึ่งเกิดจากการประนีประนอมระหว่างกรีซและคณะตรวจสอบวินัยการคลังแห่งยุโรปหรือทรอยก้า ที่ประกอบด้วยไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางยุโรป และสหภาพยุโรป แนวทางนี้จะช่วยให้กรีซพ้นจากสถานการณ์เลวร้าย
โดยบทบาทของเยอรมนีภายใต้สมมติฐานนี้จะยอมรับเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย รวมถึงจัดตั้งสหภาพการธนาคารเพื่อสร้างหลักประกันแก่ผู้ฝากเงิน การใช้นโยบายภาษีร่วมกัน นโยบายหนี้ภาครัฐและการจัดการภาวะถดถอย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาจุดร่วม แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อเยอรมนีที่ส่งออกในยุโรปคิดเป็นสัดส่วนถึง 60%
และสมมติฐานสุดท้ายที่ค่อนข้างมองโลกในแง่ดีคือ สมาชิกยูโรโซนหันหน้ามาคุยกันและยอมรับเหตุผลของอีกฝ่ายโดยมีการบูรณาการกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นแนวคิดตั้งแต่ก่อตั้งสหภาพยุโรป แต่รัฐบาลของแต่ละประเทศยังไม่สามารถผลักดันไปสู่จุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการเปิดตลาดแรงงานเสรี การตรวจสอบภาคการเงิน หรือการผนึกระบบภาษีร่วมกัน แต่ก็มีโอกาสน้อยมากที่จะได้แรงหนุนจากชาวยุโรปที่ไม่เชื่อมั่นในผลประโยชน์ร่วมกันจากการบูรณาการเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง
แต่ไม่ว่าผลที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้จะออกมาตามสมมติใดจาก 1 ใน 3 ข้างต้นหรือออกมาในแนวทางอื่นที่คาดไม่ถึงก็ตามประเทศไทยเราเองก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย รัฐบาลไทยหรือแม้แต่ภาคเอกชนเองต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ แม้ว่าจะผ่านเคยวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนโดยเฉพาะล่าสุดวิกฤตของสหรัฐในปี 2551 ที่กระทบต่อภาคการส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จึงต้องนำเอาประสบการณ์ครั้งนั้นมาเป็นบทเรียนและหาทางป้องกัน
มาตรการป้องกันที่ประเทศไทยต้องเตรียมตัวรับมืออาจไม่แตกต่างกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2551 แม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปจะมีสัดส่วนเพียง 9-10% เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีอยู่ประมาณ 16% แต่ผลกระทบก็ย่อมไม่ต่างกันหากเศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อ 4 ปีก่อน
และแม้ว่าหลายฝ่ายออกมาบอกว่าให้ไทยเราปรับเปลี่ยนน้ำหนักการส่งออกมาที่จีนและ ประเทศในภูมิภาคมากขึ้น โดยในปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกไปยังจีนอยู่ที่ 19% และอาเซียนอยู่ที่ 22% แต่การส่งออกดังกล่าวเป็นการส่งออกชิ้นส่วนการผลิตระหว่างกันเท่านั้น ยังไม่ใช่การส่งออกสินค้าสำเร็จรูปสู่มือผู้บริโภคปลายทางทั้งหมด เพราะตลาดที่สำคัญของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกก็ยังคงเป็นสหรัฐฯ และยุโรป หากเกิดปัญหาขึ้นไม่ว่าจะฝั่งสหรัฐฯ หรือยุโรปจนส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยนั่นแหละปัญหาจะเกิดขึ้นกับประเทศผู้ส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเทศไทยเราเป็นประเทศขนาดเล็กและมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดมีการพึ่งพาการส่งออกสูงมากโดยเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ของจีดีพี จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ได้ แม้แต่ภาคการค้าระหว่างกันเองในภูมิภาคก็ย่อมได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ในมุมมองของ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรมว.คลัง ที่เคยเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 ได้ให้ความเห็นว่า มันเป็นวิกฤตเช่นกันแต่มันเป็นวิกฤตคนละเรื่อง โดยเมื่อปี 2551 เป็นวิกฤตที่เกิดจากสถาบันการเงินล้มละลายทำให้ความเชื่อมั่นหายไปกระทบต่อกำลังซื้อ แต่วิกฤตครั้งนี้เกิดจากปัญหาการรักษาวินัยการคลังของรัฐบาลกรีซ แต่ที่เหมือนกันคือผลกระทบต่อกำลังซื้อซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
เมื่อการส่งออกมีปัญหาสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ แต่อย่างที่กล่าวไว้กำลังซื้อในประเทศเพียง 65 ล้านคนถือว่าเล็กมากและคงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการลงทุนโดยตรงของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่สมบูรณ์และส่งเสริมภาคเอกชนให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นโดยอาศัยมาตรการต่างๆ ที่เป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายไปมากกว่านี้
ในขณะที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบสองเด้งทั้งจากมาตรการค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลที่กระทบสินค้าต้นทุนที่แพงขึ้นและถูกบีบจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลง ถือว่าถูกบีบ 2 ทางรัฐบาลจึงต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ส่งออกโดยเร็วที่สุด เพราะนาทีนี้ใครที่สายป่านยาวก็จะอยู่รอดได้แต่ใครสายป่านสั้นไม่มีทางรอดแน่นอน
โดยมาตรการที่น่าจะเห็นผลและถือเป็นยาแรงที่จะเยียวยาผู้ส่งออกที่ดีที่สุดในขณะนี้คือการอุดหนุนสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออกไม่ว่าจะเป็นการให้วงเงินสินเชื่ออุดหนุนสภาพคล่องผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารเพื่อการส่งออกปละนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้เมื่อมองที่พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจาก ธนาคารแห่งประเทศไทยหลายแสนล้านบาทที่ขณะนี้มีการเบิกใช้กันน้อยมาก ตามวัตถุประสงค์นั้นเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แต่หากนำเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องโดยหาช่องทางกฎหมายเพื่อโยกเงินส่วนนี้มาใช้ก็จะเป็นช่องทางบรรเทาปัญหาได้เช่นกัน
แต่สิ่งที่ท้าทายมากกว่าปัญหาวิกฤตยูโรโซนในครั้งนี้คือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทั้งการปรับโครงสร้างตลาดแรงงานโดยรวมของประเทศซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก หากสามารถดำเนินการในส่วนนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นเยี่ยมที่จะป้องกันไม่ว่าจะเป็นวิกฤตยูโรโซนหรือวิกฤตเศรษฐกิจใดๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน