xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปัญหายุโรปจบยาก..แต่หุ้นไทยยังไปต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯมีความกังวลในเรื่องภาวะตลาดหุ้นไม่ดี ทำให้มีผลกระทบต่อเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการซื้อขายปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้า จากปัจจัยปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรป ทำให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากเฉลี่ย 3 หมื่นล้านบาท โดยตลาดหลักหลักทรัพย์ฯจะมีการหารือกับทางฝ่ายจัดการว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรในช่วงครึ่งปีหลัง ที่จะทำให้มูลค่าการซื้อขายปีนี้เป็นไปตามเป้าที่เฉลี่ยต่อวัน 3.1-3.2 หมื่นล้านบาทต่อวัน ขณะที่6 เดือนแรกปีนี้เฉลี่ย 2.95 หมื่นล้านบาทต่อวัน

“ตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีการทำการตลาดร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ในการจัดโปรโมชั่นต่างๆ แต่จากการที่นักวิเคราะห์ประเมินนั้นยังคงมองว่าทิศทางตลาดหุ้นไทยจากนี้ก็ยังคงเป็นขาขึ้นอยู่แต่จะมีความผันผวนสูงมาก โดยตลาดหุ้นไทยถือว่ามีความน่าสนใจลงทุนจากไตรมาส2/54 ดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น14..32% ซึ่งอยู่อันดับที่ 3 รองจากตลาดหุ้นฟิลลิปปินส์ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% และ เวียดนามที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.15% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ในอันดับ 1 ภูมิภาคหุ้นอาเซียน ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีความเสี่ยงในเรื่องภาวะตลาดที่ไม่ดี จากผลกระทบปัญหาหนี้วิกฤตยุโรป ทำให้เม็ดเงินลงทุนจากหุ้นไหลไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น บอนด์ของสหรัฐอเมริกา แต่หากปัญหาคลี่คลายเชื่อว่าเงินก็จะกลับมาลงทุนในหุ้น”**นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย** กล่าว

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า วิกฤตหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศในยูโรโซน ในปัจจุบันนี้...ยังไม่อาจหาความชัดเจนต่อการคลี่คลายของสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้ ...และยังมีสภาพคล้ายหนังม้วนยาวหรือหนังซีรีย์อยู่ ขณะที่ฟากสหรัฐอเมริกา ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา..เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นและมีอยู่ ดูเบาบางหรือไม่หนักเท่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศในยูโรโซนเท่านั้น

การกู้วิกฤตที่เกิดขึ้น โดยการจัดตั้งกลไกรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป(EFSM) และกองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินยุโรป (EFSF) ที่เป็นผลความคิดมาจากการประชุมผู้นำสหภาพยุโรป ที่จะเข้ามาช่วยเหลือภาคธนาคารต่างๆของประเทศสมาชิก ในการเพิ่มสภาพคล่อง โดยรัฐบาลประเทศต่างๆไม่ต้องถูกมัดมืดด้วยข้อกำหนดให้รัดเข็มขัดนั้น...ล่าสุดก็มีข่าวลือว่าแผนการจัดตั้งกลไกควบคุมดังกล่าวจะไม่สามารถจัดตั้งได้ทันภายในปีนี้ เพราะความล่าช้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการที่จะเข้ามาดูแล

โดยตอนนี้ ทุกคนเริ่มหันกลับไปฝากความหวังไว้ที่ การออกพันธบัตรร่วมกัน เพราะเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นทางออกต่อการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด และยังทำให้สหภาพยุโรปยังอยู่ร่วมกันได้ โดยที่ผ่านมา พันธบัตรของเอยรมัน ยังมีอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ ขณะที่พันธบัตรของกรีซ สเปน อิตาลี มีอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูง ทั้งที่เป็นพันธบัตรที่ใช้เงินสกุลเดียวกันคือ “ยูโร” ….แต่ผู้ลงทุนกลับมีความมั่นใจไม่เท่ากัน เรื่องนี้ทำให้เกิดปัญหา...คือหารายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งยิ่งจะทำให้หนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่หากมีการใช้พันธบัตรร่วมกัน หลายฝ่ายเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรปรับตัวลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว ถูกคัดค้านอย่างเต็มที่จาก เยอรมนี เพราะเปรียบเสมือนการถูกผลักภาระหนี้ให้มาตกอยู่แก่ประเทศของตน อีกทั้งประชามติของประชาชนชาวเยอรมันส่วนใหญ่ ก็ไม่ต้องการให้รัฐบาลออกใช้พันธบัตรร่วมกับประเทศอื่นๆ เพราะมองว่าเยอรมนี ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ยูโรโซนไปมากมายแล้ว จนรัฐบาลก็ไม่กล้าจะเข้าไปช่วยเหลืออะไรเพิ่ม เนื่องจากเกรงว่าอาจมีผลต่อคะแนนความนิยมของประชาชนในประเทศ
 

ฟากสหรัฐฯ ก็ยังประสบปัญหาเศรษฐกิจอยู่...เห็นได้จากภาคการผลิตในเดือนมิถุนายนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี อันเนื่องมาจากยอดการสั่งซื้อใหม่ปรับตัวลดลงอย่างหนัก ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯอาจจะหยุดชะงักลง จนทำให้มีหลายคนคาดการณ์ว่าตัวเลขคนว่างงานของสหรัฐฯที่สูงเกินเกณฑ์ปกติอาจต้องดำเนินอยู่เช่นนี้ต่อไปอีกถึง 4 ปี

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว....ประเทศไทย จะต้องเผชิญผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน...ตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปในครึ่งปีหลัง....คำตอบที่พออุ่นได้บ้าง ก็ได้มาอยู่บนตัวหนังสือถัดจากนี้ไป....

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย** รายงานว่า ต้องติ้ดตามการประชุมกรีซ กับทรอยก้า เพราะถ้าหากล้มเหลว โดยรัฐบาลกรีซไม่สามารถปฏิบัติตามที่ทรอยก้าเรียกร้องได้ ขณะที่กรีซยังต้องการสภาพคล่องกว่า 10,000 ล้านยูโร ในช่วงไตรมาส 3/2555 และเนื่องจากกรีซยังไม่สามารถที่จะระดมทุนได้ด้วยตัวเอง กรีซอาจถูกเรียกร้องให้ออกจากยุโรป ซึ่งจะส่งผลให้กรีซต้องสร้างระบบเงิน ระบบชำระเงิน รวมถึงสกุลเงินใหม่ และจากความไม่มั่นคงทางเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของกรีซที่ยังมีอยู่ จะทำให้ความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินใหม่ของกรีซมีน้อยมาก

นอกจากนี้ ถ้าเกิดกรณีทางการกลุ่มยุโรปไม่สามารถที่จะจำกัดวงความสูญเสียได้ และทำให้วิกฤติความเชื่อมั่นลุกลามบานปลาย จะทำให้แรงกดดันต่อสถานะสมาชิกในกลุ่มประเทศแถบยุโรปมีมากขึ้น เพราะหนี้รัฐบาลของสเปนและอิตาลี มีขนาดประมาณ 940,000 ล้านยูโร และ 2.1 ล้านล้านยูโร ซึ่งใหญ่กว่าหนี้ของกรีซประมาณ 2.8 และ 6.1 เท่า ส่งผลให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจของกลุ่มยุโรปจะเผชิญกับความปั่นป่วนอย่างหนักแน่นอน โดยเศรษฐกิจยุโรปอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง และค่าเงินยูโรก็อาจจะร่วงลงอย่างหนัก ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ-การเงินโลกอย่างมาก
 
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯได้ประเมินไว้ว่าทางกรีซน่าจะเจรจากับกลุ่มทรอยก้าสำเร็จ และปัญหาน่าจะจบในวงที่แคบ ซึ่งจะทำให้ประเทศ ไทยได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และอัตราการเติบโตยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง โดยผลกระทบทางตรงในช่วง 4 เดือนแรก ความต้องการสินค้าไทยในกลุ่มประเทศแถบยุโรปลดลงอย่างชัดเจน หดตัวลงไป 15.4 % ในช่วง 4 เดือนแรก และคาดว่าทั้งปี 2555 จะหดตัวประมาณ 5% แม้ตัวเลขการส่งออกของผู้ประกอบการไทยไปยังกลุ่มยุโรปจะมีเพียงแค่ 7.5%


สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังน่าจะมีการฟื้นตัวและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงไตรมาส 4/2555 น่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นตัวเลข 2 หลัก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงปี 2554 ที่เศรษฐ กิจหดตัวรุนแรงจากปัญหาอุทกภัย รวมถึงยังต้องจับตาดูวิกฤติหนี้ยุโรป การใช้จ่ายของภาครัฐในเรื่องระบบป้องกันน้ำท่วมและราคาน้ำมันตลาดโลก

ศุภกร สุนทรกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เกียรตินาคิน กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในครึ่งปีหลังดัชนียังคงผันผวนตามข่าวไปจนกว่าจะเห็นมาตรการแก้หนี้ยุโรปที่ชัดเจน ดัชนีจะแกว่งตัวเป็นรอบๆ ตลอดปีและสู่เป้าหมาย1,236-1,280 จุดได้ โดยปัจจุบันตลาดยังคาดหวังมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ3 (คิวอี3) ซึ่งน่าจะเห็นในเดือน กันยายนนี้ ซึ่งจะดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นมากขึ้น แม้ว่าขณะนี้เงินลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้วแต่ไม่มาก เพราะรอการแก้ปัญหาที่ชัดเจนในยุโรปก่อน

สาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนรวม บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า ปัญหาหนี้ยุโรปยังมีอยู่ แต่พัฒนาการในการแก้ปัญหาเป็นไปในเชิงบวก โดยเริ่มมีการแยกภาครัฐกับภาคธนาคารของกลุ่มยูโรออกจากกัน เพื่อจะสามารถแก้ไขปัญหา ด้านธนาคารกลางยุโรป เข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลสถาบันการเงินในยุโรปได้เบ็ดเสร็จ ไม่ต้องไปผ่านรัฐบาลประเทศต่างๆ เหมือนที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าสุดท้ายต่างชาติก็ต้องกลับมาภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย เพราะปัจจุบันอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐต่ำสุดในรอบ 200 ปี ก็ต้องหาที่ลงทุนอื่นซึ่งตั้งแต่ต้นปีต่างชาติขายหุ้นไทย 2 หมื่นล้านบาทจากซื้อสุทธิ 8 หมื่นล้านบาท และไม่น่าจะเทขายแรงๆออกมาอีก

“ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันถือว่าไม่ถูกไม่แพง สัดส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (พี/อี) ประมาณ 11-12 เท่า กำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ยังเติบโต 20-25% และปีหน้า15% สนับสนุนตลาดหุ้นไทยและจะผลักดันดัชนีสู่ 1,250-1,300 จุดในปีนี้ โดยหุ้นที่น่าสนใจยังเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์”

โดยรวม นักการเงินและผู้บริหารการลงทุนในประเทศเชื่อว่าหุ้นไทยยังมีโอกาสขยับตัวขึ้นไปได้ถึง 1,300 จุด เม็ดเงินจากต่างประเทศยังมีโอกาสกลับเข้ามาในตลาดหุ้น จากปัจจัยพื้นฐานในประเทศที่ดี ...แต่ความมั่นใจหรือเชื่อใจเต็มที่ก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป...หาแผนรองรับไว้บ้าง ผ่อนหนักเป็นเบา ได้บ้างดีกว่าไม่ได้เลย...น่าจะดีที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น