รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-อเล็กซานเดอร์ โดบรินด์ท เลขาธิการใหญ่พรรคคริสเตียน โซเชียล ยูเนียน (ซีเอสยู) ซึ่งเป็น “พรรคน้อง” ของพรรคคริสเตียน เดโมแครต (ซีดียู) ของนายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนี ออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลกรีซเริ่มหันกลับไปใช้เงินสกุลดั้งเดิมของตน คือ “ดราชมา” บางส่วน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือการออกจากกลุ่มยูโรโซนในอนาคตอันใกล้
รายงานข่าวระบุว่า โดบรินด์ท ซึ่งเป็นนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมคนดังแห่งแคว้นบาวาเรีย ทางตอนใต้ของเยอรมนี ยืนยันว่า กลุ่มยูโรโซน หรือ 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินตราสกุลหลักน่าจะมีอนาคตที่ดีและสดใสกว่านี้หากกรีซออกจากการเป็นสมาชิก พร้อมแนะให้รัฐบาลกรีซเริ่มจ่ายเงินบำนาญและเงินเดือนของลูกจ้างภาครัฐราวครึ่งหนึ่งด้วยเงินสกุลดราชมาโดยเขาระบุว่า การหวนกลับไปใช้เงินสกุลดั้งเดิมราวครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ควบคู่กับการใช้เงินยูโรไปพลางสักระยะหนึ่ง น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของกรีซ มากกว่าการเปลี่ยนไปใช้เงินดราชมาแบบเต็มตัวในทันทีทันใด พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า วิธีการดังกล่าว จะช่วยให้กรีซกลับมามีเศรษฐกิจที่เติบโตได้อีกครั้ง
“ถ้ากรีซยังใช้เงินยูโรร่วมกับพวกเรา พวกเราก็จะถูกดึงไปสู่จุดจบเช่นกันในท้ายที่สุด ผมขอย้ำว่า พวกเราไม่ควรออกมาตรการช่วยเหลือกรีซเพิ่มเติมอีกต่อไป เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า กรีซไม่ต้องการปฏิบัติตามพันธะสัญญาต่างๆ หรือในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็ไม่มีความสามารถที่จะทำตามข้อกำหนดเหล่านั้นได้ พวกเขาสมควรออกไปหาโอกาสใหม่นอกกลุ่มยูโรโซน” โดบรินด์ทเปิดใจกับหนังสือพิมพ์รายวัน “ดี เวลท์”
ท่าทีล่าสุดของนักการเมืองในสายของนายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนีรายนี้ มีขึ้นในช่วงเดียวกับที่ผลสำรวจความคิดเห็นของหลายสำนักระบุว่า จำนวนของชาวเยอรมันที่ต้องการให้กรีซออกไปพ้นจากกลุ่มยูโรโซนกำลังมีเพิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากส่วนใหญ่เห็นว่า เยอรมนีต้องกลายเป็นประเทศที่แบกรับภาระหนักที่สุดในการแก้ปัญหาหนี้สินของกรีซและชาติยูโรโซนอื่นๆ ทั้งที่ปัญหาดังกล่าว เยอรมนีมิได้เป็นฝ่ายที่ก่อขึ้น
ในอีกด้านหนึ่งคณะผู้ตรวจสอบ 3 ฝ่ายหรือ “ทรอยก้า” ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีกำหนดเดินทางถึงกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซในวันอังคาร (24) เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าในการตัดลดการใช้จ่ายจำนวน 11,700 ล้านยูโร (ราว 450,290 ล้านบาท) ภายในปี ค.ศ.2013-2014 ของรัฐบาลกรีซ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กรีซต้องปฏิบัติตามภายใต้วงเงินช่วยเหลือ 130,000 ล้านยูโร (ราว 5 ล้านล้านบาท)
อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวข่าวที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราสของกรีซ เตรียมขอเจรจาผ่อนผันขยายระยะเวลาในการตัดลดการใช้จ่ายดังกล่าวออกไปอีก 2 ปี และเตรียมขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกกว่า 50,000 ล้านยูโร (ราว 1.92 ล้านล้านบาท) โดยเตรียมอ้างเหตุผลที่เศรษฐกิจของกรีซมีการหดตัวอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 5 ปี