ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ ทั้งด้านราคาอาหารและพลังงาน หรือเสถียรภาพของระบบการเงิน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ล้วนแต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆเหล่านี้มีผลก่อให้เกิดความร่วมมือกันของหลายๆประเทศในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การค้า และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และอำนาจในการต่อรองกับประเทศหรือภูมิภาคอื่น เช่นเดียวกันกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่ได้ร่วมมือกันจัดตั้ง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ AEC ซึ่งจะทำการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการในปี 2558 หรือในอีก3 ปีข้างหน้านี้ค่ะ ในวันนี้ เราจะมาลองทำความรู้จักกับ AEC กันดูนะคะ ว่ามีความเป็นมาอย่างไรและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมถึงจะส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างไรในอนาคตบ้าง
ทั้งนี้ AEC เป็นการรวมกลุ่มของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนจำนวน 10 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซียฟิลิปปินส์ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และ กัมพูชา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเสรีทางการค้า อำนวยความสะดวกทางการลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมไปถึงการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ของแต่ละประเทศสมาชิก ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการรวมกลุ่ม AEC นั้น อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเด็นหลัก คือ
(1) การเป็นตลาดเดียว (Single Market) และมีฐานการผลิตร่วมกัน (Single Product Base) หรือพูดให้ง่ายขึ้นก็คือ เป็นการเปิดเสรีทางการค้า การบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยการลดภาษีทางการค้าให้เป็นศูนย์ และขจัดอุปสรรคหรือการกีดกันทางการค้าในด้านอื่นๆ ให้หมดไป
(2) เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศที่อยู่ในกลุ่มให้อยู่ในระดับที่ทัดเทียมกัน เช่นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เอื้อต่อการค้าขาย และการลงทุน เป็นต้น
(3) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน โดยลดช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก
และ (4) เพื่อเชื่อมโยงอาเซียนให้เข้ากับเศรษฐกิจโลก เช่น การจัดทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ระหว่างกลุ่ม AEC กับประเทศคู่เจรจาต่างๆค่ะ
สำหรับผลกระทบของการจัดตั้ง AEC ที่จะมีต่อประเทศไทย มีทั้งในด้านบวกและด้านลบ โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการที่ผู้ประกอบการในประเทศ ไม่ต้องเผชิญกับอุปสรรคและมาตรการกีดกันทางการค้าในอุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง ซึ่งจะมีผลช่วยขยายตลาดและการส่งออกของไทยให้เติบโตขึ้นได้อีกมาก เนื่องจากประชากรของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีอยู่รวมกันประมาณ600 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของประชากรโลกเลยทีเดียวค่ะ แต่ผลกระทบในทางลบที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ สินค้าที่มีราคาถูกกว่า จากประเทศสมาชิกจะไหลเข้ามาในประเทศได้สะดวกขึ้น และอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำ(มีราคาของสินค้าสูงกว่า) ต้องออกจากตลาดไปในที่สุด
ทางด้านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ถือได้ว่าเป็นข้อเสียเปรียบในการเข้าสู่กลุ่ม AEC ด้วยเช่นกันค่ะ เนื่องจากไทยจะสูญเสียข้อได้เปรียบในเรื่องของการเป็นฐานการผลิต (เพราะมีต้นทุนค่าแรงสูง) ทั้งที่ภูมิประเทศของไทยถือเป็นจุดที่มีความเหมาะสมในการเป็นฐานการผลิตของกลุ่ม เมื่อเทียบกับในบรรดาประเทศสมาชิกด้วยกัน นอกจากนี้แล้ว ปัญหาความขัดแย้ง
ทางการเมืองภายในประเทศ รวมไปถึงความไม่พร้อมในการเข้าสู่ AEC ของประเทศไทย เนื่องจากยังขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลควรจะต้องให้ความสำคัญ และเร่งเข้ามาหามาตรการแก้ไข เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทย มีความพร้อมสูงสุดในการที่จะเข้าสู่ AEC ในระยะเวลาอีก 3 ปีข้างหน้าค่ะ
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อาจถือได้ว่าเป็นเพียงผลกระทบของ AEC ที่มีต่อภาคเศรษฐกิจ และการแข่งขันทางการค้าของไทยเพียงเท่านั้น ยังไม่รวมถึงผลกระทบของ AEC ที่จะเกิดกับการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของไทย ซึ่งเราจะมาติดตามกันถึงประเด็นนี้ในสัปดาห์ถัดไปค่ะ
สโรกาญจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
sarokarn@thaibma.or.th, 02-252-3336 Ext.216