xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ เพิ่มต่อเนื่อง 4 เดือนซ้อน เอกชนห่วงผลกระทบค่าแรง 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธาน ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ เดือน มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือนซ้อน เกินระดับ 100 สะท้อนสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ส่วนคาดการณ์แนวโน้มอีก 3 เดือนข้างหน้า คาดแตะที่ระดับ 109.5 ห่วงผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แนะรัฐเข็นมาตรการช่วยเหลือ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทย ประจำเดือนมีนาคม 2555 พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 แสดงถึงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ การเร่งผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค เพื่อรองรับอุปสงค์ในช่วงเทศกางสงกรานต์ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ค่าดัชนีปรับขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม น้ำตาล ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์

“ค่าดัชนีเกิน 100 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา แสดงถึงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจากการสำรวจในระยะที่ผ่านมา พบว่า ระดับความเชื่อมั่นต่อยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากภาครัฐให้ความสำคัญ และกำหนดมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก”

ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 109.5 เพิ่มขึ้นจาก 106.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณผลผลิต และผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของอุตสาหกรรมหลังเกิดเหตุอุทกภัย

สำหรับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐ ได้แก่ ผู้ประกอบการอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีแผนการพัฒนาฝีมือแรงงานควบคู่กับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ, เร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันภัยธรรมชาติ, รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท, ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ภาครัฐควรทบทวนการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างรอบคอบ และตรวจสอบและเร่งแก้ไขภาวะค่าครองชีพสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น