ถึงแม้ว่าระบบของตลาดการเงินในปัจจุบันจะพัฒนาและก้าวหน้าไปมากขึ้น จนทำให้นักลงทุนมีทางเลือกสำหรับการลงทุนที่ค่อนข้างหลากหลาย อีกทั้งยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนได้มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา แต่ผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ มักจะมาพร้อมๆ กับความเสี่ยงที่มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าความเสี่ยงดังกล่าวย่อมไม่เหมาะสำหรับนักลงทุนบางประเภทที่ไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงในระดับที่สูงได้ เช่น นักลงทุนที่อยู่ในวัยเกษียณ เนื่องจากเงินที่นำมาลงทุนก็คือเงินเก็บสะสมที่ได้มาจากการทำงานตลอดชีวิตนั่นเอง
ดังนั้น นักลงทุนในกลุ่มนี้จำเป็นที่ต้องหาช่องทางในการลงทุนที่จะสามารถรักษาเงินต้นไว้ไม่ให้หดหายไป พร้อมๆ กับการสร้างผลตอบแทนเพื่อเป็นรายได้สำหรับการใช้จ่ายในช่วงที่ไม่มีรายได้อื่นใดเพิ่มเติมเข้ามาด้วย การตัดสินใจเลือกลงทุนจึงแตกต่างกับนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ และต้องใช้ความรอบคอบเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปัจจุบันที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซา แนวทางเพื่อการลงทุนของนักลงทุนที่อยู่ในวัยเกษียณอายุอาจจะเขียนเป็นภาพกว้างๆ ได้ดังนี้
(1) ลงทุนในตราสารที่ปราศจากความเสี่ยง โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุนนั้นมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคา (Price Risk) หรือความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินคืนจากการลงทุน (Default Risk) ซึ่งไม่ว่าจะเลือกลงทุนในทางเลือกใด นักลงทุนย่อมต้องพบเจอกับความเสี่ยงอย่างน้อยด้านใดด้านหนึ่ง และสำหรับนักลงทุนที่อยู่ในวัยเกษียณด้วยแล้ว การลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ น่าจะถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ทั้งนี้ เราถือว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล จัดเป็นตราสารที่ปราศจากความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืน (Default Risk) ในขณะที่การฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ (ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท) ก็ถือเป็นทางเลือกที่ปราศจากความเสี่ยงเช่นกัน
(2) ระยะเวลาในการลงทุนที่ไม่ยาวจนเกินไป เนื่องจากการลงทุนในทางเลือกต่างๆ มักจะมีเรื่องของระยะเวลาในการลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ เช่น การฝากเงินแบบประจำ 2 ปี จะทำให้นักลงทุนไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ในช่วงก่อนครบกำหนด 2 ปีได้ (แต่ถ้าจำเป็นต้องถอนออกมาก่อน ก็จะทำให้ไม่ได้รับอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้) หรือการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ถ้าหากว่านักลงทุนทำการขายพันธบัตรดังกล่าวก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน ก็จะมีความเสี่ยงในเรื่องของราคาซื้อ-ขายในตลาดรองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาวขึ้น ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงในด้านความผันผวนของราคามากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น นักลงทุนจำเป็นต้องเลือกช่องทางให้ตรงความเหมาะสมของตนเอง ทั้งนี้ นักลงทุนที่อยู่ในวัยเกษียณ ควรจะเลือกลงทุนในช่องทางที่ไม่ใช้เวลาในการลงทุนยาวจนเกินไป ตัวอย่างเช่น การลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง (อายุประมาณ 5 ปี) ที่เปิดขายแก่ประชาชนโดยทั่วไปในช่วงที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามเนื่องจากผลตอบแทนที่สูงและระยะเวลาของการลงทุนที่ไม่ยาวนัก
(3) ต้องให้ผลตอบแทนสูงกว่า เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นที่ให้ความเสี่ยงเท่ากัน เพราะโดยปกติแล้วนักลงทุนไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม ถือเป็นนักลงทุนที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Averse) โดยหากมีทางเลือกในการลงทุน 2 ทางที่ให้ผลตอบแทนเท่าๆ กัน เราจะเลือกลงทุนในทางเลือกที่ให้ความเสี่ยงต่ำกว่าเสมอ หรืออาจจะบอกได้ว่า หากมีทางเลือกในการลงทุน 2 ทางที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกัน เราจะเลือกลงทุนในทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งถ้าหากลองพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ เทียบกับดอกเบี้ยจากการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์แล้ว จะพบว่าไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะรุ่งเรืองหรือซบเซา การลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐก็ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากประจำอยู่เสมอครับ
(4) ต้องมีสภาพคล่องไม่น้อยไปกว่าการลงทุนในทางเลือกอื่นๆ เนื่องจากสภาพคล่อง (หรือความสามารถที่จะเปลี่ยนสภาพของตราสารที่ทำการลงทุนอยู่ให้กลับมาเป็นเงินสด โดยที่ไม่ทำให้ราคาหรือผลตอบแทนที่จะได้จากตราสารนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก) ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนในวัยเกษียณ ในกรณีนี้ การฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์อาจถือเป็นทางเลือกที่ให้สภาพคล่องสูงที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากการฝากเงินก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ (ที่จัดได้ว่ามีสภาพคล่องต่ำกว่า) แต่ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีกองทุนรวม (Mutual Fund) ที่ลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ภาครัฐหลายๆ แห่ง เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถซื้อ-ขายหน่วยลงทุนได้ทุกวัน การลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้จึงอาจถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ และเหมาะสมกับนักลงทุนที่อยู่ในวัยเกษียณได้เช่นกัน
สรุปแล้ว การลงทุนของนักลงทุนในวัยเกษียณอายุการทำงานจะมีความแตกต่างจากการลงทุนของนักลงทุนในกลุ่มอื่นๆ อย่างชัดเจนครับ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ และพิจารณาการลงทุนอย่างระมัดระวัง ซึ่งสุดท้ายแล้ว นักลงทุนแต่ละรายจะเลือกลงทุนอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะตัวส่วนบุคคล อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ รวมไปถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้นั่นเองครับ
สุชาติ ธนฐิติพันธ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
suchart@thaibma.or.th, 0-2252-3336 Ext 113
ดังนั้น นักลงทุนในกลุ่มนี้จำเป็นที่ต้องหาช่องทางในการลงทุนที่จะสามารถรักษาเงินต้นไว้ไม่ให้หดหายไป พร้อมๆ กับการสร้างผลตอบแทนเพื่อเป็นรายได้สำหรับการใช้จ่ายในช่วงที่ไม่มีรายได้อื่นใดเพิ่มเติมเข้ามาด้วย การตัดสินใจเลือกลงทุนจึงแตกต่างกับนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ และต้องใช้ความรอบคอบเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปัจจุบันที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซา แนวทางเพื่อการลงทุนของนักลงทุนที่อยู่ในวัยเกษียณอายุอาจจะเขียนเป็นภาพกว้างๆ ได้ดังนี้
(1) ลงทุนในตราสารที่ปราศจากความเสี่ยง โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุนนั้นมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคา (Price Risk) หรือความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินคืนจากการลงทุน (Default Risk) ซึ่งไม่ว่าจะเลือกลงทุนในทางเลือกใด นักลงทุนย่อมต้องพบเจอกับความเสี่ยงอย่างน้อยด้านใดด้านหนึ่ง และสำหรับนักลงทุนที่อยู่ในวัยเกษียณด้วยแล้ว การลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ น่าจะถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ทั้งนี้ เราถือว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล จัดเป็นตราสารที่ปราศจากความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืน (Default Risk) ในขณะที่การฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ (ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท) ก็ถือเป็นทางเลือกที่ปราศจากความเสี่ยงเช่นกัน
(2) ระยะเวลาในการลงทุนที่ไม่ยาวจนเกินไป เนื่องจากการลงทุนในทางเลือกต่างๆ มักจะมีเรื่องของระยะเวลาในการลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ เช่น การฝากเงินแบบประจำ 2 ปี จะทำให้นักลงทุนไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ในช่วงก่อนครบกำหนด 2 ปีได้ (แต่ถ้าจำเป็นต้องถอนออกมาก่อน ก็จะทำให้ไม่ได้รับอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้) หรือการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ถ้าหากว่านักลงทุนทำการขายพันธบัตรดังกล่าวก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน ก็จะมีความเสี่ยงในเรื่องของราคาซื้อ-ขายในตลาดรองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาวขึ้น ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงในด้านความผันผวนของราคามากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น นักลงทุนจำเป็นต้องเลือกช่องทางให้ตรงความเหมาะสมของตนเอง ทั้งนี้ นักลงทุนที่อยู่ในวัยเกษียณ ควรจะเลือกลงทุนในช่องทางที่ไม่ใช้เวลาในการลงทุนยาวจนเกินไป ตัวอย่างเช่น การลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง (อายุประมาณ 5 ปี) ที่เปิดขายแก่ประชาชนโดยทั่วไปในช่วงที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามเนื่องจากผลตอบแทนที่สูงและระยะเวลาของการลงทุนที่ไม่ยาวนัก
(3) ต้องให้ผลตอบแทนสูงกว่า เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นที่ให้ความเสี่ยงเท่ากัน เพราะโดยปกติแล้วนักลงทุนไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม ถือเป็นนักลงทุนที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Averse) โดยหากมีทางเลือกในการลงทุน 2 ทางที่ให้ผลตอบแทนเท่าๆ กัน เราจะเลือกลงทุนในทางเลือกที่ให้ความเสี่ยงต่ำกว่าเสมอ หรืออาจจะบอกได้ว่า หากมีทางเลือกในการลงทุน 2 ทางที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกัน เราจะเลือกลงทุนในทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งถ้าหากลองพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ เทียบกับดอกเบี้ยจากการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์แล้ว จะพบว่าไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะรุ่งเรืองหรือซบเซา การลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐก็ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากประจำอยู่เสมอครับ
(4) ต้องมีสภาพคล่องไม่น้อยไปกว่าการลงทุนในทางเลือกอื่นๆ เนื่องจากสภาพคล่อง (หรือความสามารถที่จะเปลี่ยนสภาพของตราสารที่ทำการลงทุนอยู่ให้กลับมาเป็นเงินสด โดยที่ไม่ทำให้ราคาหรือผลตอบแทนที่จะได้จากตราสารนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก) ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนในวัยเกษียณ ในกรณีนี้ การฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์อาจถือเป็นทางเลือกที่ให้สภาพคล่องสูงที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากการฝากเงินก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ (ที่จัดได้ว่ามีสภาพคล่องต่ำกว่า) แต่ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีกองทุนรวม (Mutual Fund) ที่ลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ภาครัฐหลายๆ แห่ง เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถซื้อ-ขายหน่วยลงทุนได้ทุกวัน การลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้จึงอาจถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ และเหมาะสมกับนักลงทุนที่อยู่ในวัยเกษียณได้เช่นกัน
สรุปแล้ว การลงทุนของนักลงทุนในวัยเกษียณอายุการทำงานจะมีความแตกต่างจากการลงทุนของนักลงทุนในกลุ่มอื่นๆ อย่างชัดเจนครับ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ และพิจารณาการลงทุนอย่างระมัดระวัง ซึ่งสุดท้ายแล้ว นักลงทุนแต่ละรายจะเลือกลงทุนอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะตัวส่วนบุคคล อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ รวมไปถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้นั่นเองครับ
สุชาติ ธนฐิติพันธ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
suchart@thaibma.or.th, 0-2252-3336 Ext 113