xs
xsm
sm
md
lg

การทำธุรกรรม Private Repo

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในปัจจุบันตราสารหนี้กลายเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่แน่นอนตามระยะเวลาที่ระบุไว้ ทั้งนี้ชื่อของตราสารหนี้บ่งบอกลักษณะของตราสารอย่างชัดเจนว่าเป็นตราสารทางการเงินที่แสดงความเป็นหนี้ หรือการกู้ยืมระหว่างกัน ดังนั้น ผู้ออกตราสารหนี้ถือว่าเป็นลูกหนี้ หรือผู้กู้ และผู้ลงทุนเป็นเจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้นั่นเอง และเนื่องจากลักษณะมีความเป็นหนี้ระหว่างกันนี้เอง ทำให้วันครบกำหนดไถ่ถอนของตราสาร หรือจะเรียกง่ายๆ ก็คือวันที่เจ้าหนี้จะได้รับเงินต้นคืนจากลูกหนี้นั้น ต้องมีการระบุไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งอาจจะเป็น 1 เดือน หรือ 10 ปี ก็แล้วแต่ว่าการตกลงระบุไว้แต่ต้นอย่างไร

เมื่อมีเรื่องของระยะเวลาการไถ่ถอนมาเป็นข้อจำกัด และถ้าเป็นตราสารที่มีอายุยาวๆ นั้น ยิ่งทำให้ผู้ลงทุนอาจจะมีความกังวลเรื่องระยะเวลาที่จะได้เงินคืนพอสมควร เพราะหากระหว่างถือครองตราสารหนี้อยู่ เกิดมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนดังกล่าวโดยไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้าแล้วละก็จะทำอย่างไร จะไปขอเรียกร้องขอไถ่ถอนก่อนกำหนดเหมือนเวลาเราฝากประจำกับธนาคารแล้วขอถอนเงินก่อนกำหนดก็คงทำไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ตกลงกับผู้ออกตราสารไว้แต่ต้น สิ่งที่ผู้ลงทุนสามารถทำได้ก็คือ ไปตกลงซื้อขายตราสารนั้นในตลาดรองตราสารหนี้กับผู้ค้าตราสารหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารพาณิชย์นั่นเอง แต่หากว่าผู้ลงทุนเพียงต้องการใช้เงินในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และไม่คิดอยากจะขายตราสารหนี้นั้นออกไป ก็สามารถเลือกใช้วิธีที่เรียกว่าการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo) ก็ได้เช่นกัน โดยใช้ตราสารที่ถือครองมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืม

Private repo เป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อใช้ในการบริหารสภาพคล่องระยะสั้นของผู้มีสภาพคล่องส่วนเกิน (ผู้ให้กู้) และผู้ขาดสภาพคล่อง (ผู้กู้) โดยทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ตกลงที่จะกู้และให้กู้โดยใช้ตราสารหนี้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งการตกลงกู้ยืมกันนั้นจะเป็นการกู้ยืมในระยะสั้น โดยเมื่อครบกำหนดการกู้ยืม ผู้กู้ต้องหาเงินกู้มาคืน ส่งคืนให้ผู้ให้กู้บวกกับดอกเบี้ยกู้ยืม (Repo interest) ในทางกลับกัน ผู้ให้กู้เองก็ต้องนำตราสารหนี้ที่ผู้กู้นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันส่งคืนให้ผู้กู้ตามจำนวน และรุ่นเดียวกับที่ผู้กู้ได้นำส่งให้ผู้ให้กู้ก่อนหน้านี้เช่นกัน ถึงแม้ว่าตราสารหนี้ที่นำมาทำธุรกรรม Private repo นี้จะจัดเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ตาม แต่กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายในหลักทรัพย์ค้ำประกันช่วงที่ยังไม่ครบกำหนดอายุการกู้ยืม หรือเรียกอีกอย่างว่า ครบกำหนดซื้อคืน จะตกเป็นของผู้ให้กู้ ดังนั้น ผู้ให้กู้มีสิทธิจะนำตราสารหนี้ดังกล่าวไปสร้างผลกำไรต่อได้ ด้วยการนำไปขายให้ผู้อื่น หรือไปทำ Private repo อีกทอดหนึ่งก็ได้ เพียงแต่เมื่อครบกำหนดซื้อคืน ผู้ให้กู้ต้องหาตราสารหนี้มาคืนให้ผู้กู้ได้ตามที่ตกลง ซึ่งจะเห็นว่าผู้ให้กู้นอกจากจะได้ผลตอบแทนในรูปของ Repo interest แล้วก็ตาม ยังสามารถหาผลตอบแทนเพิ่มเติมจากหลักทรัพย์ที่ผู้กู้นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วยเช่นกัน

ในฝั่งของผู้กู้ การทำ Private repo ไม่เพียงแต่จะเป็นเครื่องมือให้ผู้กู้ใช้ในการบริหารสภาพคล่องเท่านั้น แต่สำหรับบางรายใช้ Private repo เป็นช่องทางในการสร้างผลกำไร โดยการนำตราสารหนี้ในพอร์ตไปทำ Private repo และนำเงินที่ได้จากการกู้ยืมไปลงทุนต่อ แต่ต้องขอย้ำว่า เงินกู้ที่นำไปลงทุนต่อนั้นต้องได้ผลตอบแทนสูงกว่า Repo interest ที่ผู้กู้ต้องจ่ายให้ผู้ให้กู้

จุดเด่นของ Private repo อีกอย่างหนึ่งที่ควรทราบก็คือ แนวทางปฏิบัติการทำธุรกรรม Private repo มีการป้องกันความเสี่ยงให้ทั้งผู้ให้กู้และผู้กู้ ด้วยการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันทุกวันตลอดช่วงอายุของการกู้ยืม (Repo term) เนื่องจากตราสารหนี้เป็นหลักทรัพย์ที่ราคาเปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่จะเปลี่ยนแปลงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับภาวะตลาด ณ ช่วงนั้นๆ โดยเมื่อได้มูลค่าหลักทรัพย์ที่ประเมินราคาปัจจุบันได้แล้วจะนำมาเปรียบเทียบกับเงินต้นที่ให้กู้ยืม และหากมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันต่ำกว่าเงินกู้ยืม ผู้กู้จะต้องส่งมอบหลักทรัพย์เพิ่มเติมให้ผู้ให้กู้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงให้ผู้ให้กู้ ในกรณีหากผู้กู้ไม่คืนเงินต้นให้ผู้ให้กู้หากครบวันกำหนดซื้อคืน ในทางกลับกับ หากหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ประเมินราคาปัจจุบันแล้วพบว่ามีมูลค่าสูงกว่าเงินกู้ยืม ผู้ให้กู้ก็ต้องส่งหลักทรัพย์ค้ำประกันคืนให้ผู้กู้เช่นกัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้ผู้กู้ หากเมื่อครบกำหนดซื้อคืนแล้วผู้ให้กู้ไม่คืนหลักประกันให้ผู้กู้

สายชล ลิสวัสดิ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
saichon@thaibma.or.th, 0-2252-3336 Ext 211
กำลังโหลดความคิดเห็น