xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนหุ้น KPLUS-TDF บริหารพอร์ตเพื่อคืนประโยชน์ผู้ลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Fund Innovation

ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นมาสูงอยู่ในระดับ 1,200 จุดนี้ ส่งผลต่อการดำเนินงานของกองทุนหุ้นที่มีผลตอบแทนดีขึ้นมาด้วย โดยกองทุนรวมหุ้นในปัจจุบันมีหลายกองทุน มีทั้งแบบจ่ายปันผลและไม่มีการจ่ายปันผลให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนกัน คอลัมน์ Fund Innovation วันนี้หยิบยกกองทุนรวมหุ้นที่น่าสนใจ ภายใต้การบริหารของ บลจ.ยูโอบี จำกัด คือ กองทุนเปิด กำไรเพิ่มพูน (Kamrai Permpoon Open-ended Fund : KPLUS) และกองทุนเปิด ไทยดรากอน (Thai Dragon Fund : TDF) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีอายุเกือบ 20 ปี มีการสร้างผลตอบแทนที่สูง รวมทั้งการจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยที่สูง กองทุนที่มีอายุยาวกองนี้มีการบริหารกันอย่างไร และอะไรถือเป็นหัวใจของกองทุนที่สร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนมาเกือบ 20 ปี

2 กองทุนนี้ถือเป็นกองทุนรุ่นแรกๆ ของ บลจ.ยูโอบี ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2536 ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ผ่านวิกฤตหนักๆ มาถึง 2 ครั้ง (วิกฤตต้มยำกุ้ง และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) ซึ่งเป็นกองทุนหุ้นที่มีการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง โดยหัวใจของกองทุนนี้มีลงทุนในหุ้นเป็นหลักไม่ต่ำกว่า 90-95% ยกเว้นหากมีวิกฤตเศรษฐกิจก็อาจถือลดลงมา ที่เหลือก็ลงทุนในตั๋วเงินคลัง หรือเงินสด เป็นต้น ขณะเดียวกันมีการจ่ายปันผลปีละครั้ง

 สิทธิศักดิ์ ณัฐวุฒิ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายการลงทุนตราสารทุนในประเทศ สายงานการลงทุน บลจ.ยูโอบี จำกัด บอกว่า จุดเริ่มต้นของการบริหารกองทุนนี้มาจากการที่ฝ่ายการตลาดมองการลงทุนในหุ้นว่า ถ้าหุ้นขึ้นกองทุนนี้ต้องขึ้นไม่น้อยกว่าดัชนีตลาด ซึ่งทีมผู้จัดการกองทุนต้องพยายามทำผลการดำเนินงานให้มากกว่าดัชนีมาตฐานของตลาดหลักทรัพย์ จึงต้องใช้เชิงรุก (Active) ในการลงทุน และพยายามเลือกหุ้นที่ดีที่สุดเข้าพอร์ตการลงทุน ปัจจุบันถืออยู่ไม่เกิน 30 หลักทรัพย์เท่านั้น จากทั้งหมดที่สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 80 ตัว ซึ่งมีทีมผู้จัดการกองทุนหุ้น 3 คนที่มีประสบการณ์ที่สูงเกิน 10 ปี คอยดูการลงทุนในกองทุนนี้

ดังนั้นถ้าหุ้นขึ้น กองทุนนี้ต้องขึ้นมากกว่าตลาด และถ้าตกก็ต้องตกน้อยกกว่าตลาด นี่ถือเป็นคีย์หลักในการบริหารกองทุนนี้” 

เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา 2 กองทุนนี้มีขนาดกองทุนที่นิ่งไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก รวมทั้งกองทุนมีขนาดลดลง ซึ่งก็เป็นเพราะการจ่ายปันผลในแต่ละปีที่เยอะมาก เช่น “กองทุนกำไรเพิ่มพูน” ปีไหนที่กำไรมากก็จะจ่ายมาก เช่นบางปีจ่ายปันผลถึง 75% จากกำไรที่ลงทุน เช่นเดียวกับ “กองทุนเปิดไทย ดรากอน” ที่กำหนดไว้ว่าต้องจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรจากการลงทุน แต่บางปีที่ขาดทุนก็อาจปันผลไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่านักลงทุนที่ชอบลงทุนแบบรับเงินปันผลก็จะกลับเข้ามาลงทุนในกองทุนนี้กัน

ดังนั้น เสน่ห์ของกองทุนนี้จึงเป็นกองทุนรุ่นเก่าที่มีการจ่ายเงินปันผลสูงมากและเปิดมานานไม่ได้มีการแก้ไขโครงการกองทุนอะไรแต่อย่างใด มีเพียงปรับกลยุทธ์การลงทุนไปตามภาวะเศรษฐกิจเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่ากองทุนรุ่นใหม่ๆ จะไม่ค่อยมีการจ่ายปันผลนัก หรือจะออกไปในแนวการลงทุนแบบสไตรก์แล้วปิดกองทุน

กองทุนนี้เป็นกองทุนที่ทำเพื่อนักลงทุนอย่างแท้จริง แม้จะเห็นว่ากองทุนมีราคาเอ็น เอวีที่ต่ำ นั่นก็เป็นเพราะมีการจ่ายเงินปันผลออกไปสู้ผู้ถือหน่วยที่สูงอยู่ตลอด **

ดังนั้นกองทุนนี้จึงเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่รับความเสี่ยงได้สูง เข้าใจการลงทุนอย่างดี และหวังที่จะได้ผลตอบแทนสูง แต่ไม่มีเวลาในการเลือกหุ้นด้วยตนเอง จึงเป็นหน้าที่ของ บลจ.ยูโอบีในการบริหารจัดการ ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ย้อนหลังมาหลายปีเราก็ทำได้ดีกว่า 

“อยากฝากนักลงทุนว่า เมื่อได้รับปันผลแล้วอยากให้กลับมาลงทุนเพิ่ม เพราะการกลับมาลงทุนจะดีกว่าหากไม่ได้นำเงินไปใช้จ่ายด้านอื่น ราคาหุ้นขณะนี้อาจจะแพง แต่ยังเป็นขาขึ้นอยู่ อาจไปถึง 1,300 ได้ แต่แนะนำว่าให้ลงทุนในแบบระยะยาว 3-5 ปี จะได้ผลตอบแทนที่ดีได้ ทั้ง 2 กองทุนนี้ไม่มีค่าธรรมเนียมการซื้อขายคืน และการสับเปลี่ยน”

สิทธิศักดิ์ ยังบอกว่า ตั้งแต่เจอวิกฤตมา ล่าสุดถือว่าบริหารยากมากขึ้น ทุกปี เพราะการเชื่อมโยงการตลาดหุ้นทั่วโลกมีมากขึ้น ทำให้มีปัจจัยต่างประเทศเข้ามากระทบมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเพิ่มขึ้นคือต้องได้ข้อมูลมากขึ้นในการตัดสินใจ และต้องดูว่าจะมีเหตุการณ์อะไรที่จะส่งผลมาถึงหุ้นที่เราจะลงทุนด้วย แต่ข้อดีคือ มีทางสิงคโปร์ที่มีข้อมูลร่วมแชร์กันอยู่ และวางกลยุทธ์ ซึ่งก่อนการลงทุนก็จะมีการทำการศึกษาความน่าลงทุนของหุ้นที่จะลงทุน

กองทุนนี้เหมาะต่อนักลงทุนระยะยาว ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงที่หุ้นขึ้นกองทุนนี้จะขึ้นได้ดีไม่น้อยกว่าตลาด ส่วนหุ้นที่ลงทุนนั้นก็มีการปรับสภาวะไปตามตลาด โดยที่ทีมผู้จัดการกองทุนจะคุยกันว่า เช่นในภาวะตลาดอย่างนี้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ โตขึ้นได้ดี ยุโรปมีปัญหา ส่วนจีนมีการโตน้อยลง ตรงนี้ทำให้ภายนอกดูไม่ดี พอร์ตจึงมาเน้นจัดหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก อย่างธนาคารให้น้ำหนักเยอะ พลังงาน รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ ที่มองว่าในปีนี้ยอดการขายบ้านจะเพิ่มขึ้นหลังจากน้ำท่วม ขณะที่กลุ่มยานยนต์ก็ฟื้นตัวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น