xs
xsm
sm
md
lg

“ค่าแรง 300...ประเด็นร้อนของธุรกิจไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ “คู่คิดธุรกิจ” ฉบับเมษายน 2555
โดย บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด

ฤดูร้อนปีนี้ประเทศไทยไม่เพียงจะร้อนรุ่มจากองศาของภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ในส่วนของธุรกิจเองก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน หลังจากวันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมามีการนำร่องปรับขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำเป็น “300 บาท” ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต เล่นเอาภาคธุรกิจโดยเฉพาะ “ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME)” ปรับกระบวนทัพรับศึกกันไม่ทันเลยทีเดียว และนโยบายนี้ยังจะเดินหน้าบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคมปีหน้าพร้อมกันทั่วประเทศอีกด้วย

เรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SME ของไทย ที่เน้นการพึ่งพิงแรงงานเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการผลิต ในช่วงที่กระแสข่าวดังกล่าวปรากฏขึ้นนั้น พบว่ามีบริษัทที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลักมีการโยกย้ายฐานการผลิตออกไปในประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่าจริง บางบริษัทก็เจอต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ยอดขายไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม และอีกสารพัดปัญหา

ต้องยอมรับว่า ธุรกิจของไทยมีรากฐานมาจากธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่ยังไม่ได้พึ่งพา “มืออาชีพ” เข้ามาช่วยในเรื่องของการทำธุรกิจมากนัก ซึ่งในบางครั้งก็ทำให้เป็น “จุดอ่อน” ของการดำเนินธุรกิจไป การเข้าหาแหล่งเงินทุนก็มีข้อจำกัด การบริหารจัดการที่มาด้วยใจ ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในโลกยุคไร้พรมแดนเช่นปัจจุบัน

“ค่าแรง” ถือเป็นหนึ่งใน “ต้นทุนการผลิต” โดยแนวคิดทางเศรษฐศาตร์แล้ว “ค่าแรง” ที่เพิ่มขึ้น หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้เพิ่มมากกว่าค่าแรงที่สูงขึ้นนั้น การเพิ่มค่าแรงดังกล่าวย่อมไม่น่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อตัวธุรกิจแต่ประการใด

แต่ประเด็นที่วิพากษ์ในหมู่ธุรกิจ SME ในปัจจุบันก็คือ ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แต่คุณภาพของผลผลิตที่ได้กลับเท่าเดิม และธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ดูจะไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐเท่าใดนัก ทั้งจากการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ภายในปี 55 และลดเหลือ 20% ภายในปี 56 เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าภาษีนิติบุคคลส่วนใหญ่ที่รัฐเก็บได้ในปัจจุบันมาจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น มาตรการนี้ภาษีที่ลดลงก็สามารถจะชดเชยกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้แล้วในระดับหนึ่ง ต่างจากธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ที่ผลประกอบการอาจจะไม่ดีและไม่ได้เสียภาษีอยู่แล้ว เมื่อต้องเจอกับ “ค่าแรง” ที่เพิ่มขึ้น จึงถือเป็นปัญหาที่ธุรกิจต้องขบคิดพอสมควรทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ SME ไทยปรารถนาจะเติบโตในเส้นทางธุรกิจ การมีที่ปรึกษาที่เป็นมืออาชีพช่วยแนะนำ และนำธุรกิจของท่านเข้าสู่มาตรฐานเช่นที่ธุรกิจมืออาชีพพึงกระทำก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรละเลยที่จะพิจารณาเช่นเดียวกัน

ธุรกิจที่สามารถบริหารต้นทุนของตัวเองได้ดี ไม่เฉพาะ “ต้นทุนทางการเงิน” แต่รวมถึง “ต้นทุนในการดำเนินงาน” สิ่งเหล่านี้ย่อมจะกลายเป็น “แต้มต่อ” ที่สำคัญให้แก่ธุรกิจได้ทันที เพียงแต่ต้องวาง “มาตรฐานบัญชี” ให้ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับ เพื่อจะได้สามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มองเห็นภาพใหญ่ว่า... “สิ่งใดขาด-สิ่งใดเกิน” แล้วบริหารจัดการในส่วนของต้นทุนของธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยธุรกิจในเบื้องต้นให้รับมือกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้แล้วในระดับหนึ่ง

นอกเหนือจากการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพแล้ว การเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้นก็ดูจะเป็นสิ่งที่ ผู้บริหารทุกคนต่างตระหนักดี แต่การทำให้เกิดเป็นรูปธรรมนับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้ง “คำแนะนำที่ดี” มีค่ายิ่งเหนือสิ่งอื่นใด เพราะแต่ละธุรกิจก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวให้ทุกธุรกิจได้ เพียงแต่หวังว่าธุรกิจ SME ของไทยพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เพื่อพร้อมเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 58 นี้ กับการเป็นส่วนหนึ่งของ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC”

ประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ถือเป็นผลกระทบหนึ่งที่สำคัญที่ธุรกิจไทยเองคงจะได้เรียนรู้ และมองให้เห็น “โอกาส...ในวิกฤต” เพราะหากมองให้ดี ตั้งสติให้ดี บริหารให้ดี เชื่อว่า...สถานการณ์นี้ธุรกิจก็อาจจะผ่านพ้นวิกฤตได้เช่นเดียวกัน

----------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น