xs
xsm
sm
md
lg

ความน่าสนใจของตลาดหุ้นจีน หลังการปรับเป้าศก.ต่ำสุดรอบ7ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน หลังการปรับประมาณเศรษฐกิจลงต่ำสุดในรอบ 7 ปีว่า หากกล่าวถึงประเทศผู้นำเศรษฐกิจของโลก นอกจากจะนึกถึงสหรัฐอเมริกาแล้ว อีกประเทศหนึ่ง ที่มักถูกยกกลับมากล่าวถึงคู่กันก็คือจีน ทั้งๆที่เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว จีนถูกจับตามองเป็นเพียงแค่ “โรงงานผลิต” ของโลก (World Manufacturer) ที่ทำการผลิตสินค้าและส่งออกไปยังที่ต่างๆเท่านั้น แต่เพียงแค่ช่วงไม่กี่ปีผ่านมา จีนได้พัฒนาด้านเศรษฐกิจ และกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกไปแล้ว ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่เหนือระดับ 8% ตลอดรอบ 10 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งสามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แซงหน้าญี่ปุ่นได้ในปี 2553 และมีการคาดการณ์ไว้ว่า หากจีนยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระดับนี้ เพียงอีกไม่ถึง 10 ปี ก็จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐฯได้

อย่างไรก็ดี เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางการจีนได้ออกมาประกาศปรับลดเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีพ.ศ. 2555 ลงเหลือเพียง 7.5% ซึ่งนับเป็นเป้าหมายที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปีของจีน ทำให้ตลาดการเงินทั้งหุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างก็ปรับตัวลดลงด้วยความตื่นตระหนกของนักลงทุน และทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ในเมื่อเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นเหมือนเสาหลักของเศรษฐกิจโลกในภาวะนี้ชะลอตัวลง จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร และโดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน ที่เริ่มมีแนวโน้มสดใสมาตั้งแต่ต้นปี ยังคงเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจได้อยู่หรือไม่

ทั้งนี้ หากย้อนไปดูอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงปี พ.ศ. 2551 - 2552 ซึ่งเศรษฐกิจโลกประสบกับปัญหาวิกฤตหนี้ด้อยคุณภาพ (subprime) ในสหรัฐฯ จนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกติดลบนั้น จีนได้มีการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 4 ล้านล้านหยวน และส่งผลให้เศรษฐกิจจีนสามารถขยายตัวได้ถึงเกือบ 10% จนทำให้หลายๆคนเริ่มกังวลว่า จีนจะเกิดปัญหาฟองสบู่ จากเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปหรือไม่ ส่งผลให้ในช่วง 1 -2 ปีที่ผ่านมา ทางการจีนต้องเข้ามาดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่เข้มงวด เช่น การปรับเพิ่มอัตราส่วนเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย รวมถึงมาตรการด้านการควบคุมการปล่อยกู้ของธนาคาร เป็นต้น เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ

ผลจากมาตรการความเข้มงวดทางการเงินการคลังต่างๆที่ผ่านมา เริ่มส่งผลให้เห็นได้จากอัตราการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง รวมถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนทั้งตัวเลขการส่งออก ตัวเลขการผลิตและการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 1 ปี ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ทั้งนี้ สวนหนึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตหนี้สิน/เศรษฐกิจในยุโรปแต่อีกปัจจัยหนึ่ง อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นความ “ตั้งใจ” ของรัฐบาลจีน ที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวด้วยอัตราที่ลดลง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาฟองสบู่เศรษฐกิจ และเพื่อให้เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ

หากย้อนกลับไปดูอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า จีนมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง สูงกว่าอัตราการเติบโตที่ทางรัฐบาลจีนได้วางเป้าหมายไว้เกือบทุกปี ถึงปีละ 1 - 2 % จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้จีนจะมีการกำหนดเป้าหมายการเติบโตไว้แค่ 7.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จีนจะจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจไว้เพียงแค่เป้าหมายที่ตั้งไว้เท่านั้น ดังนั้น การปรับลดอัตราการเติบโตเป้าหมายของจีน จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตก หรือเป็นปัจจัยลบต่อการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม อาจจะมองในแง่ดีว่าเป็นการลดความร้อนแรง เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาวนอกจากนี้ เป้าหมายดังกล่าว ก็ยังคงสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 12 ของจีน (มีผลบังคับใช้ปี 2554 - 2558) ที่ต้องการเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจจากการบริโภคภายในประเทศ ด้วยการเพิ่มรายได้ประชากร มากกว่าการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศด้วย จึงทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ยืนอยู่ในระดับ 8%แม้ว่ารัฐบาลจีนจะปรับลดอัตราการเติบโตเป้าหมายลงก็ตาม

นอกจากนี้ เมื่อมองในแง่ภาพรวมเศรษฐกิจของจีนแล้ว จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เคยเป็นกังวลกัน กลับมีทิศทางปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 4.5% จากระดับ 6.5% ในปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงมีโอกาสที่รัฐบาลจีน จะมีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินการคลัง เพื่อช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีการปรับลดอัตราเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงมาถึง 2 ครั้ง และยังคาดการณ์ว่า หากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงใกล้ระดับเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ที่ 4% แล้ว ก็น่าจะมีโอกาสที่จีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเติบโตที่ยั่งยืนจากในประเทศ ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความผันผวนสูง

อย่างไรก็ดี สำหรับในแง่ของตลาดหุ้น ในระยะสั้น อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงค่อนข้างเปราะบาง การที่จีนปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลง อาจจะทำให้นักลงทุนบางส่วนกังวลถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และทำการเทขายหุ้นออกมา อย่างไรก็ดี จากอดีตที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลจีนมีการประกาศ หรือดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจใดๆ ก็ตาม ตลาดมักจะตอบสนองในทางลบในระยะสั้นเสมอ ก่อนที่จะค่อยปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ตลาดหุ้นจีนให้ผลตอบแทนติดลบต่อเนื่องในปี 2553 และ 2554 ประมาณ 22.34% ด้วยเหตุผลที่จีนมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตรากันสำรองของธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2553 จนถึงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ผนวกกับมีการออกมาตรการชะลอการเติบโตของราคาอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องทำให้จีนเป็นตลาดหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติหลีกเลี่ยงใน 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มลดลงในปีนี้และสถานการณ์การลงทุนโลกกลับมาอยู่ในภาวะที่นักลงทุนกล้ายอมรับความเสี่ยงมากขึ้น (“Risk-on Mode”) ประกอบกับระดับราคาหุ้นจีนปัจจุบัน (ดัชนีหุ้น H-Share) มีอัตราส่วน P/E อยู่ที่ประมาณ 8.7 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว 10 ปีที่ระดับ 13.65 เท่าอยู่ถึงเกือบ 35% ในขณะที่อัตราการเติบโตของผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนจีนในปีนี้ยังคงคาดการณ์ว่าขยายตัวได้ประมาณ 13 - 15%ตลาดหุ้นจีนจึงมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้อีกในปีนี้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากตลาดหุ้นจีนจะมีความผันผวนค่อนข้างสูงมาก จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงและความผันผวนได้สูง ประกอบกับตั้งแต่ต้นปี ตลาดหุ้นจีนปรับขึ้นมากว่า 10% แล้ว จึงอาจจะมีการปรับฐานลงได้ในระยะสั้น แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานและทิศทาง จะยังคงสนับสนุนการเติบโตของตลาดหุ้นจีนก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น