xs
xsm
sm
md
lg

คาดธุรกิจประกันปี54โต12% คปภ.เผยยอด11เดือนเบี้ย4แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คปภ.เผยธุรกิจประกันไทย 11 เดือนปี 54 ขยายตัวร้อยละ 12.2 คาดทั้งปียังโตที่ระดับเดียวกัน แม้เจอปัญหาน้ำท่วมทิ้งท้าย ประกันชีวิตเด่นกวาดเบี้ยรับตรงกว่า 2.9 แสนล้านบาท ขณะที่ประกันภัยเก็บไป 1.26 แสนล้านบาท ระบุประกันชีวิตขายกรมธรรม์สะสมทรัพย์มากสุด ขณะที่ประกันภัยรถยนต์ยังครองแชมป์

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยไทยไม่มากนัก โดยในเดือนพฤศจิกายน 2554 ธุรกิจประกันภัยสามารถขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขยายตัวร้อยละ 10.84 และขยายตัวร้อยละ 7.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อน

ทั้งนี้ ข้อมูลการขยายตัวข้างต้นแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมทั้งสิ้น 40,886 ล้านบาท จากธุรกิจประกันวินาศภัยหดตัวที่ร้อยละ 1.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เนื่องจากเหตุมหันตภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา แต่ธุรกิจประกันชีวิตกลับขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการขยายตัวของธุรกิจประกันภัยในปี 2554 น่าจะเติบโตได้ที่ร้อยละ 12.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 4.44 โดยคาดว่า เบี้ยประกันภัยรับตรงทั้งสิ้นจะอยู่ที่ 472,255 ล้านบาท เป็นการขยายตัวของธุรกิจประกันชีวิตร้อยละ 13.12 และการขยายตัวของธุรกิจประกันวินาศภัย ร้อยละ 9.66

สำหรับข้อมูลล่าสุดในช่วงเดือน มกราคม - พฤศจิกายน ธุรกิจประกันมีเบี้ยประกันรับโดยตรงรวม 419,594 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ณ 30 พฤศจิกายน 2554 ธุรกิจประกันภัยมีจำนวนกรมธรรม์รวมทั้งสิ้น 57,626,850 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.15 เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยรวมทั้งสิ้น 73,365,533 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.78

นายประเวช กล่าวอีกว่า การขยายตัวของธุรกิจประกันภัยในช่วง 11 เดือนของปี 2554 จะแบ่งเป็น ธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย โดยธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 293,571 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.77 จากขยายตัวของการประกันชีวิตประเภทสามัญที่ขยายตัวร้อยละ 13.91 โดยเป็นการประกันชีวิตประเภทสามัญแบบสะสมทรัพย์มากที่สุด รองลงมาได้แก่แบบตลอดชีพ และการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ขยายตัวร้อยละ 9.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยชีวิต ณ 30 พฤศจิกายน 2554 มีจำนวน 19,218,666 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ7.94 คิดเป็นอัตราส่วนจำนวนกรมธรรม์ต่อจำนวนประชากรร้อยละ 29.73 ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 29.37 เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยเท่ากับ 8,613,683 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.65

ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยมีจำนวนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 126,023 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.22 จากการขยายตัวของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดที่ขยายตัวร้อยละ 17.08 โดยการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลขยายตัวร้อยละ 26.86 และการขยายตัวของการประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ที่ขยายตัวร้อยละ 20.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนการประกันภัยรถยนต์มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.51 ของเบี้ยประกันภัยรวมทั้งหมด เป็นเบี้ยประกันภัยจำนวน 74,991 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.87 เมื่อพิจารณาจำนวนกรมธรรม์ของธุรกิจประกันวินาศภัย พบว่ามีจำนวน 38,408,184 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.87 คิดเป็นอัตราส่วนกรมธรรม์ต่อจำนวนประชากรร้อยละ 59.42 เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยเท่ากับ 64,751,850 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.49

**กรมธรรม์น้ำท่วมเน้นตามความเสี่ยง**

นายประเวช กล่าวอีกว่า ผลการประชุมหารือร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) และภาคธุรกิจประกันภัย ถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ภายหลังจากพระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติมีผลบังคับใช้แล้วจะมีการออกกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ

โดยกำหนดคำนิยามของภัยพิบัติที่ให้ความคุ้มครอง 3 ภัย ได้แก่ วาตภัย อุทกภัย และธรณีพิบัติ ซึ่งเบี้ยประกันภัยจะเป็นราคาที่เหมาะสมตามความเสี่ยงของพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยสูงเบี้ยประกันภัยก็จะสูงตามไปด้วย และหากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยต่ำเบี้ยประกันภัยก็จะถูกลง โดยบริษัทประกันภัยจะรับความเสี่ยงภัยไว้เองไม่น้อยกว่า 1% ส่วนที่เหลือจะส่งเข้ากองทุนฯ ต่อไป ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัดส่วนที่รับประกันภัยไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น