xs
xsm
sm
md
lg

คปภ.เผยยอดเสียหายน้ำท่วมพุ่ง 9นิคมอุตหสากรรม1.4แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คปภ.เผยยอดความเสียหายน้ำท่วมพุ่ง เฉพาะ 9 นิคมอุตสาหกรรม 1.4 แสนล้านบาท ส่วนรายย่อย-รถยนต์เสียหายแล้วกว่า 5 พันล้านบาท ย้ำไม่กระทบการเงินบ.ประกันไทย เหตุมีการประกันต่อต่างประเทศกว่า 85% ด้านพรูเด็นเชียลยืดเวลาชำระเบี้ยเป็น 91 วัน ส่วนเอไอเอยันบริการตามปกติช่วงน้ำท่วม

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า ความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ ล่าสุด ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2554 มียอดความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 1.45 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ความเสียหายต่อรถยนต์ จำนวน 2,004 คัน รวมค่าสินไหมทดแทน 211,521,285 บาท ความเสียหายต่อทรัพย์สิน จำนวน 2,862 ราย รวมมูลค่าจำนวน 5,924,312,735 บาท ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต 58 ราย รวมเงินเอาประกัน 11,093,652 บาท

ส่วน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง ได้ประเมินความเสียหายบ้างแล้ว ในเบื้องตนได้ประเมินความเสียหายรวมเอาไว้ 140,000 ล้านบาท เพราะน้ำท่วมยังไม่ได้ถูกระบายออก ทำให้เครื่องจักรที่จมน้ำมีการเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ส่วนหลังน้ำลดก็ต้องเข้าไปทำการประเมินอีกครั้งส่วนความเสียหายจะถึง 200,000-300,000 ล้านบาท หรือ ไม่ยังไม่สามารถประเมินได้

ทั้งนี้ 80% ได้ทำประกันเอาไว้กับบริษัทประกันญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ได้มีการส่งผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจความเสียหายบ้างแล้ว และยืนยันว่าไม่กระทบฐานะทางการเงินของบริษัทประกันวินาศภัยแต่อย่างใด

สำหรับการประกันภัยในนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งนั้น มีทุนประกันรวมกันอยู่ที่ กว่า 456,000 ล้านบาท นั้นคิดเป็นแค่ 4%ของจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งหมดที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าน้อยมาก และที่สำคัญบริษัทประกันในประเทศรับประกันเอาไว้เพียง 15% เท่านั้น ที่เหลืออีก 85% ของเบี้ยได้ส่งไปยังบริษัทรับประกันภัยต่อ หรือ รีอินชัวร์เรอร์ ในต่างประเทศ เพราะฉะนั้น สถานะทางการเงินของบริษัทประกันวินาศภัย ของไทยและบริษัทร่วมทุนแข็งแกร่ง และที่ผ่านมาบริษัทเหล่านี้ก็ได้จ่ายคาสินไหมทดแทนช่วงสึนามิมามากกว่านี้ด้วย

นางจันทรา กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ที่มีกรมธรรม์อยู่ หลังจากนี้ควรตรวจสอบว่ายังมีความคุ้มครองอยู่หรือไม่ หรือ หมดอายุเมื่อใด ซึ่งการต่ออายุกรมธรรม์ โดยทั่วไปบริษัทประกันภัยจะมีหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้เอาประกันภัยล่วงหน้าก่อนหมดอายุ 30 วัน เพราะฉะนั้นจึงขอให้ผู้เอาประกันภัยแจ้งการต่ออายุภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครอง หากมีปัญหาเรื่องประกันก็ให้ติดต่อกับบริษัทที่ได้ทำประกันเอาไว้ สำหรับสาขาของบริษัทประกันภัยที่อยู่ในจังหวัดที่น้ำท่วม ขณะนี้ก็ได้มีการปิดทำการชั่วคราวไปแล้ว 36 สาขา ซึ่งคปภ.ได้กำชับให้บริษัทประกันภัยแจ้งให้ลูกค้ารับทราบว่าควรติดต่อได้ที่สถานที่ไหน หรือ บริเวณใดที่ใกล้ที่สุด

พรูเด็นเชียลผ่อนเกณฑ์ชำระเบี้ย

นายบินายัค ดัตตา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้มีการผ่อนผันเกณฑ์การชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยร้ายแรง ที่มีวันครบกำหนดการชำระเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่างวันที่ 22 กันยายน ถึง 31 ธันวาคม 2554 โดยขยายระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยจากเดิม 31 วัน เป็น 91 วัน และในกรณีการต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตหรือการกลับคืนสู่สถานะเดิมของกรมธรรม์ประกันชีวิต บริษัทฯ ผ่อนผันให้โดยไม่คิดดอกเบี้ย และ/หรือ ไม่ตรวจสุขภาพผู้เอาประกันชีวิต เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันชีวิตขาดอายุ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ถือกรมธรรม์ไม่ต้องกังวลว่ากรมธรรม์จะขาดอายุในระหว่างที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย

เอไอเอบริการปกติ

ด้านนายรอน แวน โอเยน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย บริษัทจะยังคงให้บริการแก่ลูกค้าตามปกติ โดยลูกค้าสามารถติดต่อบริษัทที่ศูนย์บริการข้อมูลทางโทรศัพท์ AIA Call Center 1581 ในวันจันทร์ถึงเสาร์ เวลา 8.00 - 20.00 น. หรือทางอีเมล์ th.customer@aia.com ส่วนลูกค้าที่ต้องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1581 เช่นกัน สำหรับลูกค้าที่มีกำหนดจะได้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ในระหว่างนี้ก็จะยังคงได้รับตามปกติ

ส่วน ผู้ถือกรมธรรม์ของเอไอเอที่ประสบภัยน้ำท่วมที่กรมธรรม์ครบกำหนดชำระเบี้ยประกันภัยภายในช่วงนี้ถึง 30 พฤศจิกายน 2554 สามารถติดต่อบริษัทหรือตัวแทนประกันชีวิตเพื่อขอขยายระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยจากปกติ 31 วันเป็น 91 วันทุกรายงวดชำระเบี้ยประกันภัยรวมทั้งรายเดือน โดยกรมธรรม์ที่ชำระเบี้ยประกันภัยในช่วงระยะเวลาผ่อนผันนี้ถือว่ากรมธรรม์มีผลบังคับ และสามารถใช้สิทธิเบิกสินไหมทดแทนได้ครบถ้วนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์

นอกจากนี้ บริษัทจะยกเว้นดอกเบี้ยสำหรับการต่ออายุกรมธรรม์และการชำระคืนเงินกู้อัตโนมัติเต็มจำนวนที่ดำเนินการภายใน 150 วันนับจากวันครบกำหนด รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกกรมธรรม์และบัตรประจำตัวผู้เอาประกันภัยที่ชำรุดหรือสูญหายจากน้ำท่วมอีกด้วย ซึ่งมาตรการพิเศษนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2555
กำลังโหลดความคิดเห็น