xs
xsm
sm
md
lg

พร้อมจ่ายนิคมฯ โดนน้ำท่วม 4 แสนล้านบาท ประกันฯ ชี้ ชาวบ้านอ่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คปภ.ยันบ.ประกันภัยพร้อมจ่ายเหตุน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมตามวงเงินประกัน 4 แสนล้านบาท ระบุ วงเงินไม่สูง และมีการประกันภัยต่อในต่างประเทศรองรับ พร้อมประเมินความเสียหายเบื้องต้น 1 แสนล้านบาท ส่วนมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงต้องรอน้ำลดเท่านั้น ด้านนายกสมาคมประกันวินาศภัย ชี้ชาวบ้านอ่วมเมินทำประกันภัย แถมโครงการประกันพืชผลเกษตร-กองทุนภัยพิบัติไม่คืบ ต้องรอศึกษารายละเอียดอีก

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า การประเมินความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่งเบื้อต้นอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงน่าจะทราบได้หลังจากน้ำลดลงแล้วเท่านั้น โดยนิคมอุตสาหกรรมที่ประสบภัยหรืออยู่ในภาวะเสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมขณะนี้มีทั้งหมด 7 แห่ง และมีบริษัทที่ทำประกันภัยทั้งสิ้น 926 ราย เป็นวงเงินเอาประกันรวม 4.56 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ทำการประกันภัยในกรณีธุรกิจหยุดชะงักทั้งหมด 30 ราย เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 7.18 พันล้านบาท โดยทาง คปภ.ได้หารือกับภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อวางมาตรการช่วยเหลือกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวให้กลับมาดำเนินกิจการได้โดยเร็วเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว และเชื่อว่า ในส่วนของการจ่ายสินไหมทดแทนจะทำได้ไม่มีปัญหาและรวดเร็วยิ่งขึ้น

“จากการประชุมรวมกับทางสมาคมวินาศภัยและบริษัทต่างๆ ยืนยันว่า สามารถจ่ายสินไหมทดแทนความเสียหายได้อย่างเต็มที่ เพราะทุกบริษัทมีการทำประกันภัยต่อในต่างประเทศ ซึ่งทุนเอาประกันทั้งหมด 4 แสนกว่าล้านบาทถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐหรือเงินเยน ที่่บริษัทประกันภัยต่อสามารถจ่ายภัยใหญ่ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา” นางจันทรา กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของการประกันชีวิต นางจันทรา กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2554 พบว่า มีผู้เสียชีวิต 307 ราย และสูญหาย 3 คน โดยเบื้องต้นพบว่ามีการทำประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวน 40 ราย รวมค่าสินไหมทดแทนจำนวนประมาณ 10 ล้านบาท

ชาวบ้านอ่วมสุด

ด้าน นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลการประกันภัยของประชาชนรายย่อยในจังหวัดที่มีน้ำท่วมสูง พบว่า มีจำนวน 48,087 ราย รวมเป็นเงินเอาประกันภัยรวม 56 ล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำนั้นเนื่องจากชาวบ้านไม่ค่อยให้ความสนใจการทำประกันภัยจากน้ำท่วมและภัยพิบัติมากนัก ซึ่งความเสียหายคงจะมีภาครัฐคอยดูแลช่วยเหลือต่อไป

ส่วนการวางมาตรการช่วยเหลือในอนาคต เบื้องต้นทางสมาคมได้รับกรอบจากทางกระทรวงการคลังเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการรับทำประกัน หรือ ตั้งกองทุนภัยพิบัติแห่งชาติขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดที่ชัดเจนได้

“ที่วงเงินประกันมันน้อยเพราะชาวบ้านไม่ค่อยสนใจ ส่วนหลังมีภัยน้ำท่วมใหญ่แล้วเบี้ยจะปรับขึ้นหรือไม่คงต้องดู ซึ่งถ้าเบี้ยขึ้นแล้วจะทำให้ชาวบ้านเข้าถึงการประกันภัยได้น้อยอีก เพราะเบี้ยแพงก็คงไม่ใช่เพราะถ้ามีการทำกันมากๆ เบี้ยก็จะถูกลงได้ ส่วนเรื่องการหามาตรการช่วยเหลือหลังจากนี้ทางเราก็มีการคุยกับภาครัฐ และกระทรวงการคลังแล้วเบื้องต้นก็ได้รับกรอบมาเหมือนกันว่าจะประกันพืชผลทางการเกษตรอย่างไร และจะบริหารจัดการอย่างไร จะเป็นกองทุนภัยพิบัตแห่งชาติหรือไม่ก็อยู่ในกรอบที่ว่า โดยถ้าค่าใช้จ่ายสูงก็อาจจะทำไม่ได้เลยก็คงต้องดูกันต่อไป” นายจีรพันธ์ กล่าว

เร่งจ่ายสินไหม

นางจันทรา กล่าวอีกว่า มาตรการเร่งด่วนที่บริษัทประกันภัยได้ดำเนินการทันทีในขณะนี้ คือ การตรวจสอบข้อมูลลูกค้าในพื้นที่ประสบอุทกภัยเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยก่อนเกิดความสูญเสีย โดยไม่ต้องรอให้ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้แจ้งเหตุ โดยบริษัทประกันภัยร่วมกับผู้ประกอบการได้เข้าไปเคลื่อนย้ายเครื่องจักรบางส่วนที่สามารถถอดชิ้นส่วนได้ออกไปเก็บในที่ปลอดภัย ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วกับนิคมอุตสาหกรรม นวนคร ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำเข้าท่วม รวมถึงกำลังเร่งดำเนินการในนิคมอุตสาหกรรมบางกระดีที่ยังอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และเป็นการช่วยเหลือให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้รวดเร็ว สำนักงาน คปภ.จึงมีนโยบายในการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการประเมินความเสียหาย เช่น การพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของผู้ประเมินวินาศภัย (Surveyor) เพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาเป็นผู้ประเมินความเสียหายได้ทันที ซึ่งมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้บริษัทประกันภัยมีความสะดวกในการประเมินความเสียหายและทำให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยได้รวดเร็วมากขึ้น หากมีข้อสงสัยสอบถามสายด่วนประกันภัย 1186 ฝ่ายสื่อสารองค์กร
กำลังโหลดความคิดเห็น