โดยวรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บลจ.บัวหลวง
บทความของ Nathan Hale ที่เขียนลงใน Money Watch เมื่อ 29 ธันวาคม 2554 น่าสนใจมากเพราะเหมาะกับช่วงเวลาที่เราเห็นความเสี่ยงหลายด้านอยู่ข้างหน้า จึงขอนำมาถ่ายทอดให้อ่านกันค่ะ
Nathan Hale บอกว่า ผู้ลงทุนหลายคนมักจะอยู่ใน 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ไม่มีความรู้พอที่จะตัดสินใจได้ดี กับ ผู้ไม่รู้ตัวว่าเขาไม่มีความรู้พอที่จะตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด แต่ข่าวดีก็คือคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนไม่ได้ต้องการอะไรที่ซับซ้อนมาเป็นตัวช่วย เพราะผลงานของกองทุนไม่ได้สัมพันธ์กันกับความซับซ้อนของกองทุนเลย และเราสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนระยะยาวของเราเองได้อย่างเรียบง่าย ตรงไป ตรงมา และสามารถฝ่าฟันวงจรเศรษฐกิจไปได้ในทุกวงจร ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ด้วย 4 ข้อคิด ดังต่อไปนี้
1.มุ่งความสนใจไปที่ค่าใช้จ่ายของกองทุน
นอกจากเราต้องพิจารณาผลตอบแทนที่กองทุนทำได้แล้ว Nathan Hale ยังแนะนำว่า “ให้ดูค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการบริหารกองทุนด้วย หากมันมากกว่ากองทุนประเภทเดียวกันกองอื่นๆ เราก็น่าเป็นห่วงว่ามันมีผลต่อผลตอบแทนของกองทุน ซึ่งก็คือเงินของเราจะหดหายไปเกินควร”
เรื่องที่ Nathan ว่ามานี้ นี้เราอาจถกเถียงกันได้ว่า แล้วเราควรลงทุนเฉพาะใน Passive Funds ใช่ไหม เพราะค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนมันถูกกว่าActive Funds
ตัวอย่างของ Passive Funds ก็คือ Index Fund ที่มีเป้าหมายบริหารให้ผลตอบแทนกองทุนเท่ากับการขึ้นลงของดัชนี จึงมีค่าใช้จ่ายกองทุนที่ถูกกว่า Active Funds เพราะ Passive Funds ไม่ต้องใช้การตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน แต่ไปอิงการตัดสินใจจากโมเดลการลงทุนที่กำหนดจากข้อมูลในอดีตเป็นหลัก
คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะเราควรดูผลตอบแทนสุทธิที่กองทุนทำได้ในแต่ละปีและโดยรวมในระยะยาวด้วย สมมติว่า Passive Fund ให้ผลตอบแทนใน 5 ปี ที่เฉลี่ย 3.50% ต่อปี สำหรับกองทุนหุ้น แต่ Active Fund ที่ลงทุนในหุ้นเหมือนกัน ให้ผลตอบแทนที่เฉลี่ย 6.15% ต่อปีในช่วงเดียวกัน ซึ่งหักค่าใช้จ่ายกองทุนแล้ว เราก็คงไม่อยากอยู่กับ Passive Fund อีกต่อไป และในทางกลับกันหาก Active Fund ให้ผลตอบแทนในระยะยาวไม่เท่า Passive Funds ก็ไม่รู้จะไปจ่ายค่าจัดการกองทุนให้เขาไป มากๆ ทำไม ในเมื่อกี่ปีๆ ผ่านไปก็ไม่ได้บริหารได้ดีกว่าดัชนีเลย
2.จัดสรรเงินลงทุนในพอร์ตของเราให้ถูกต้องเหมาะสมกับตัวเรา
เรื่องนี้ Nathan ยกตัวอย่างได้ดีมาก เขาบอกว่า ผู้ลงทุนมักยอมให้อารมณ์ขึ้นมาอยู่เหนือความ สามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง ผลก็คือเหงื่อแตกซิกและน้ำตาเล็ดด้วยความเสียดมเสียดายโอกาสที่นานๆ ผ่านมาสักทีแต่ตนเองไม่กล้าลงทุนทั้งๆ ที่รับความเสี่ยงได้มาก นอกจากนี้ ในเวลาตลาดดีๆ ก็มักจะมองโลกในแง่ดีเกินไป และมองโลกในแง่ร้ายเกินเหตุจนสติแตกเมื่อตลาดตก
Nathan เตือนว่า เราไม่มีวันที่จะรู้แน่ชัดว่า “ตลาด” จะเป็นอย่างไร แต่เรารู้อยู่แล้วว่าการลงทุนระยะยาวมันจะต้องผ่านวงจรเศรษฐกิจที่มีทั้งขึ้นและลง ซึ่งก็คือจะต้องผ่านทั้งตลาดหมีและตลาดกระทิง การสนองตอบแบบดีสุดขั้ว หรือมั่วสุดขีด จึงทำร้ายพอร์ตลงทุนของเราได้
กุญแจของความสำเร็จในการลงทุนจึงอยู่ที่การจัดสรรเงินลงทุนของเราไปในสินทรัพย์ต่างๆ ที่ทำให้เราหัวถึงหมอนนอนหลับสบาย เพราะเรามั่นใจว่าสัดส่วนการลงทุนแบบนั้นจะนำ พาเราผ่านพ้นวิกฤติทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ในขณะที่จะทำให้เรายิ้มได้เมื่อตลาดขึ้นในรอบต่อไป
แม้จะไม่มีสูตรมหัศจรรย์สำหรับจัดพอร์ตลงทุนให้แต่ละคนเป็นสูตรสำเร็จ แต่ความผันผวนของตลาดใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ คงให้ประสบการณ์เราได้ว่าเราจะรับความเสี่ยงและโอกาสได้ขนาดไหน
3.กระจายการลงทุน
ตัวอย่างที่ดีของการกระจายการลงทุนก็คือเมื่อเราไปดูตลาด Bond ของสหรัฐในปีที่แล้วซึ่งนักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ และผู้จัดการกองทุนระดับโลกทั้งหลายต่างมองว่าทุกคนควรถอยห่างจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐทุกชนิด เรียกว่าให้ใส่เกียร์ถอยหลังเต็มสปีดทีเดียว เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยกับเงินเฟ้อจะขึ้นสูง จะทำให้ผลตอบแทนอยู่ในแดนลบ
ทุกคนไม่ได้มองผิด แต่ตลาดทำในสิ่งตรงกันข้าม เพราะแม้สหรัฐจะสะดุดจริง แต่ปัญหาของยุโรปดูจะหนักกว่า ผู้ลงทุนเลยหอบเงินหนีออกจากยุโรปมาหาแหล่งหลบภัยที่เขาเชื่อว่าดีที่สุดคือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
นั่นคือตัวอย่างของสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดสนองตอบโดยมันไม่ตรงกับปัจจัยพื้นฐาน ถึงขั้นหักปากกาเซียนBond king อย่าง Bill Gross แห่ง PIMCO ได้ ซึ่งเขาก็ยังเจ็บหนักในวันนี้เพราะเขาเชื่อในปัจจัยพื้น ฐาน แต่ลืมไปว่าในระยะสั้น พฤติกรรมผู้เล่นเป็นตัวกำหนดราคาซื้อขายมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน ทำให้กองทุนของเขาหล่นลงมาจากอันดับต้นๆ มาเป็นที่ห้าร้อยกว่า เกือบบ๊วยไปในปีที่แล้ว
ตัวอย่างในเมืองไทยก็คือตลาดหุ้นในหลายๆ ปีที่ดี ก็ให้ผลตอบแทนที่ทำให้แฟนคลับเงินฝากอย่างเดียวถึงกับตาร้อนผ่าวไปหลายรอบแล้ว
เรื่องนี้ Nathan บอกว่า ไม่มีใครทำนายได้ว่าตลาดจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ดังนั้น ให้ลงทุนตามสัดส่วนจัดสรรที่เหมาะกับคุณในระยะยาว โดยไม่ต้องไปเสียเวลาคาดเดาว่าตลาดจะไปทางไหน
4.รู้ข้อจำกัดและนิสัยตนเองในการลงทุน
Nathan เตือนว่า เราทุกคนมีความแตกต่างกัน บางคนรักที่จะใช้เวลาหลายชั่วโมงที่จะดูพอร์ตลงทุนปรับโน่น แต่งนี่ หลายรอบ โดยพยายามให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่บางคน กลับพบว่าการลงทุนให้ความตื่นเต้นพอๆ กับการพยายามแซะเอาคราบเกาะตรงซอกอ่างน้ำออก และจะมีความสุขมากหากไม่ต้องใช้เวลาคิดเรื่องนี้เกินปีละ 1 ชั่วโมง
โชคดีจริงๆ ที่ความสำเร็จในการลงทุนไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความพยายามที่ใช้ ดังนั้น หากเราเป็นคนกลุ่มหลัง เราก็มีทางเลือกในการบริหารเงินลงทุนของเราเอง นั่นก็คือหันไปใช้บริการผู้จัดการกองทุนที่เราเข้าใจวิธีการบริหารพอร์ตของเขา และไว้วางใจเขาได้
มีถนนหลายเส้นที่จะพาเราไปเชียงรายได้ ความสำเร็จในการลงทุนก็เช่นกัน
ดังนั้น ต่อไปนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ใดมากระทบ ขอให้กลับไปอ่านอีกครั้งให้เข้าใจโดยเฉพาะข้อ 2 เพื่อเราจะผ่านพ้นปีแห่งความเสี่ยงทั่วโลกไปได้ แล้วความสำเร็จในระยะยาวก็จะเป็นของเราทุกคนค่ะ