xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตหนี้สินยุโรปยังรุนแรงในปี2555 กดดันการลงทุนต่อเนื่องแต่เอเชียยังดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การลงทุนในปี 2555 แน่นอนว่าปัจจัยหนึ่งที่ต้องติดตามกันคือวิกฤตหนี้ในยุโรปรวมถึงปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศราฐกิจโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยแนวโน้มที่ว่าปัญหาหนี้ในยุโรปจะรุนแรงขึ้นนั้น ทำให้ต้องมีการปรับตัวในเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุนต่างๆ เพื่อรับมือกับปัญหาในปี 2555 นี้

โดยจากแนวโน้มการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ที่ระบุว่า ไอเอ็มเอฟเตรียมลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจากที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนกันยายนว่าจะเติบโตร้อยละ 4.0 การลดประมาณการเนื่องจากวิกฤตหนี้สินในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งการประเมินใหม่จะมีขึ้นในเดือนมกราคมปีหน้า และมีอันตรายจากวงจรอุบาทว์ที่ขับเคลื่อนโดยการสูญเสียความเชื่อมั่น ความไร้เสถียรภาพมากขึ้นของตลาดการเงิน และจำนวนหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เมื่อมารวมกันจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกถูกตัดทอนลง

ขณะเดียวกันประเทศในยูโรโซนเป็นศูนย์กลางของวิกฤติ และจะต้องเป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหา ซึ่งไม่เพียงแต่การดำเนินมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่น และลดการใช้จ่าย แต่จะต้องกระตุ้นการเติบโตและลดการว่างงานลงด้วย ซึ่งถ้าไม่ทำในสิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดวิกฤตความเชื่อมั่น ส่งผลกระทบไปทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

ขณะที่ผู้จัดการกองทุนในประเทศไทย กรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) บอกว่า ปัญหาของยุโรปเองจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุนในปี 2555 อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สหรัฐเองการฟื้นตัวยังดูดีกว่าฝั่งยุโรปมากพอสมควร ส่วนจีนเองมีแนวโน้มจะซบเซายาวต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าอัตราดอกเบี้นจะลดลงแล้วแต่ยังต้องมองระยะยาวต่อไปอีก ในเรื่องของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีปัญหาอยู่ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามทำให้ตลาดอสังหาฯ ชะลอตัวลง

"เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงไม่ฟื้นขึ้น บรรดาแบงก์ชาติส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำไว้ ปัญหาหนี้สินของยุโรปที่รุนแรงมากขึ้นเห็นได้จากการที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อต่างๆ ได้แค่ปรับลดและคงอันดับ ความน่าเชื่อไว้เท่านั้นในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกว่าปัญหารุนแรงขึ้น ซึงประเทศ อย่า งกรีซ อิตาลี โปรตุเกส จะมีปัญหาหนักมากจากปัญหาหนี้ที่สูงมากและต้องขอความช่วยเหลือทางการเงิน"

นอกจากนี้ไม่เพียงแต่เจอเรื่องปัญหาหนี้ที่สูงเท่านั้น ในปี 2555 นี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาในการแก้ปัญหาของยุโรปด้วยนั้นคือ เรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการตัวสินใจแก้ปัญหาต่างๆด้วย

อย่างไรก็ตามปัจจุบันทางกลุ่มยูโอบีเองยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) มากกว่าปกติ โดยให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นตลาดสหรัฐเท่ากับปกติ และให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าปกติในหุ้นยุโรป ขณะเดียวกันยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากกว่าปกติเช่นเดียวกัน และมองว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันยังมีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่นใน ภูมิภาค และหากปัญหาในยุโรปคลี่คลายแล้วเม็ดเงินลงทุนต่างชาติมีการจัดสรรกลับมาลง ทุนในตลาดหุ้นเอเชียอีกครั้ง ตลาดหุ้นไทยก็จะได้รับอานิสงส์นั้นด้วย โดยบริษัทมองเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2555 ไว้ที่ประมาณ 1,200 จุด ปรับลดลงมาจากเดิมเล็กน้อยหลังจากที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ด้าน พีระพงศ์ จิราเสวีจินดา รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มจัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี บัวหลวงจำกัด กล่าวว่า ปัจจัยเศรษฐกิจในต่างประเทศยังมีความซับซ้อนมาก ประเทศในยุโรปต้องพากันรัดเข็มขัดมากขึ้น ทั้งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลดภาษี ขณะเดียวกันในปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้งด้วย ทำให้มีปัญหาในเรื่องของทางการเมืองเข้าม ซึ่งทางประเทเยอรมันเองแม้ว่าจะมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งแต่ก็มีความกังวลในเรื่องของการหาเสี่ยงด้วยเช่นกัน ดังนั้นเศรษฐกิจยุโรปในปีหน้าจะชะลอตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีการเติบโตแบบช้าลง เพราะยังมีอัตราการว่างงานที่สูง แต่เศรษฐกิจโลกในปีหน้านั้นยังมีแรงขับเคลื่อนมาจากประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย และตลาดเกิดใหม่ ที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นได้

ส่วนเศรษฐกิจไทยปีหน้า การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมจะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น โดยในสถานะทางการคลังของประเทศมีปริมาณหนี้ที่ไม่สูงจึงยังมีเงินพอที่จะลงทุนอยู่สูงมากพอ การให้สินเชื่อในระบบยังพออยู่ได้ดี โดยคาดว่ากำไรของบริษัท จำกัด ในปีหน้าจะโตได้ในระดับ 10%

นอกจากนี้ยังบอกถึงแนวโน้มการลงทุนในทองคำด้วยว่า แม้ทองคำมีแรงขายออกมามาก แต่ยังมีปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในทองคำ ทั้งจากการที่ ธนาคารกลางยุโรปลดดอกเบี้ยให้ต่ำไว้ รวมทั้งธนาคารกลางประเทศต่างๆทยอยถือทองคำมากขึ้นทั้ง จีน เวียดนาม ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตคนจะเข้าถือทองคำกันมากขึ้น

"สำหรับการลงทุนในทองคำในส่วนของ กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นั้น บลจ.บัวหลวงก็มีทองคำเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนอยู่ด้วย เพราะมองว่าความต้องการในทองคำยังคงมีเพิ่มากขึ้น" นายพีระพงศ์ กล่าว

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) เปิดเผยรายงาน World Economic League Table ล่าสุด คาดการณ์ว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีอันดับสูงขึ้น และประเทศในยุโรปมีอันดับลดลงในแง่ของขนาดเศรษฐกิจ รายงานดังกล่าว ซึ่งจัดทำขึ้นโดยอาศัยข้อมูลสถิติจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เผยแพร่ในช่วงต้นปีนี้ แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของสหรัฐยังคงมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2554 ตามมาด้วยจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส บราซิล อังกฤษ อิตาลี รัสเซีย และอินเดีย

ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่ม BRIC ต่างติดอันดับ 1 ใน 10 ไม่ว่าจะเป็น จีน บราซิล รัสเซีย และอินเดีย โดยบราซิลนั้น แซงหน้าอังกฤษขึ้นมารั้งอยู่ในอันดับ 6 ในตารางอันดับปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจรัสเซียขยับขึ้นหนึ่งอันดับมาอยู่ที่ 9 ในปีนี้ และคาดว่าจะไต่ขึ้นสู่อันดับ 4 ในปี 2563 สำหรับอินเดีย ซึ่งอยู่ในอันดับ 10 ปีนี้ คาดว่าจะผงาดขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลกภายในปี 2563 รายงานยังคาดการณ์ว่า เยอรมนีจะร่วงลงจากอันดับ 4 ในปีนี้ ไปอยู่ที่ 7 ในปี 2563 ขณะที่อังกฤษจะหล่นจากอันดับ 7 ไปอยู่ที่ 8 และฝรั่งเศสร่วงจากอันดับ 5 สู่อันดับ 9

CEBR ยังระบุด้วยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัว 0.6% ในปี 2555 หากวิกฤตยูโรได้รับการแก้ไข และอาจหดตัวถึง 2% หากปัญหายังยืดเยื้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น