xs
xsm
sm
md
lg

แรงกดดันเงินเฟ้อคลี่คลาย Kasset แนะล็อคเงินสั้นบอนด์ 6- 12 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องโดยปรับขึ้นกว่า 2.25% ในรอบเวลาเพียง 2 ปีมาอยู่ที่ระดับ 3.50% ในปัจจุบัน โดยมีสาเหตุจากความกังวลในภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากราคาน้ำมันและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นประกอบกับการขยายตัวที่ดีของความต้องการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวก็เป็นทิศทางเดียวกันกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

อย่างไรก็ดี จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดเมื่อ 19 ต.ค.54 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 3.50% โดยมีเหตุผลมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงจากการที่เศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเนื่องจากความล่าช้าของการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่งได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นโดยเฉพาะในตลาดการเงินต่อเนื่องถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโร นอกจากนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอ่อนแอและเปราะบาง จึงมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเข้าสู่ ภาวะถดถอย ประกอบกับวิกฤตอุทกภัยในประเทศยังส่งผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม

เช่นเดียวกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกลางของประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ส่วนใหญ่ได้เริ่มหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและบางประเทศมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้วด้วยสาเหตุจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เริ่มปรับลดลง จึงทำให้เชื่อได้ว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่วนใหญ่ (ยกเว้นอินเดีย) น่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว โดยสรุปก็คือแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากปัจจัยภายนอกที่มีต่อประเทศไทยได้เริ่มหมดไป

เมื่อพิจารณาปัจจัยในประเทศไทยเอง พบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการตั้งเป้ากรอบอัตราเงินเฟ้อในปี 2555 ที่ค่อนข้างจะยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมีการมองกรอบอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายอยู่ที่ระดับ 1.50% - 4.50% ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ บลจ.กสิกรไทยจึงมีมุมมองต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศว่า กนง. น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีก 0.25% - 0.50% ภายในไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2555 และน่าจะคงอยู่ในระดับดังกล่าวตลอดทั้งปี พ.ศ. 2555 โดยเมื่อพิจารณาอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในประเทศ ก็ได้ปรับลดลงและสะท้อนการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ที่ 0.25% สำหรับการประชุมในวันที่ 30 พ.ย.ที่จะถึงนี้แล้วเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุดังกล่าว บลจ.กสิกรไทย จึงแนะนำให้ผู้ลงทุนลงทุนในกองทุนประเภทกำหนดอายุโครงการและกองทุนเปิดตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 1 ปี เพื่อล็อคผลตอบแทนไว้ก่อนที่อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะดังกล่าวอาจปรับตัวลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. โดย บลจ.กสิกรไทย จะเน้นการเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ประเภทกำหนดอายุโครงการที่มีอายุ 6 เดือน - 1 ปี ที่มีการกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้ต่างประเทศเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีกว่าตราสารหนี้ในประเทศที่มีอายุใกล้เคียงกัน โดยให้ความสำคัญกับการคัดตราสารหนี้ใหม่ๆ ที่ผู้ออกตราสารมีความน่าเชื่อถือสูง และมีความสามารถในการชำระหนี้ และกระจายการลงทุนไปในหลายภูมิภาคและหลากหลายสกุลเงิน เช่นที่ผ่านมา บลจ.กสิกรไทยก็เป็นผู้นำตลาดในการริเริ่มผสมผสานการลงทุนในเงินฝากของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และประเทศสิงคโปร์ เงินฝากในสกุลเงินหยวน รวมถึงตราสารหนี้ของบริษัทน้ำมันในเกาหลีใต้เข้ามาในพอร์ต เพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และยังคงใช้นโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวนเพื่อช่วยปิดความเสี่ยงจากค่าเงิน ซึ่งผู้ลงทุนสามารถคลายความกังวลในความเสี่ยงด้านนี้ไปได้

อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปในช่วงนี้ ปัจจัยที่สำคัญคือการออกพันธบัตรรัฐบาลกระทรวงการคลัง ซึ่งได้มีการประกาศว่าในปีงบประมาณ 2555 นี้ จะมีการออกพันธบัตรเป็นวงเงินรวมกว่า 450,000 ล้านบาท แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ ได้มีการออกเพียงแค่ 32,000 ล้านบาทเท่านั้น ยังคงเหลืออีก 3 ไตรมาส ซึ่งจะต้องมีการออกเพิ่มเติมถึงไตรมาสละกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุปานกลางตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปปรับขึ้นได้ในอนาคต (ส่งผลต่อราคาของตราสารหนี้ให้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ) จึงควรชะลอการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่เน้นการลงทุนในตราสารหนี้อายุปานกลางถึงระยะยาวออกไปก่อน

สำหรับในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะ จะมีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ปริมาณการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาของ บลจ.กสิกรไทย ก็ไม่ได้ปรับลดลงมากนัก แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อ บลจ.กสิกรไทย ในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่เหนือไปกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ในประเทศเพียงอย่างเดียว

ที่มา : บลจ.กสิกรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น