xs
xsm
sm
md
lg

JP Morganมองปีหน้าS&Pแตะ1,430จุด คาดปัญหายุโรปคลี่คลายครึ่งหลังปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - JP Morgan ชี้ปีหน้า S&P 500 อาจพุ่งแตะระดับ 1,430 จุดภายในสิ้นปีหน้า หลังคาดว่าปัญหาหนี้ยุโรปจะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ด้านบริษัทการลงทุน ICI เผยว่า กองทุนหุ้นสหรัฐฯ เผชิญเงินทุนไหลออกเป็นสัปดาห์ที่ 13 ติดต่อกัน เหตุนักลงทุนเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี จำกัด รายงานภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศว่า ฟิทช์ เรทติ้ง ประกาศลดความน่าเชื่อถือของ 7 ธนาคารใหญ่ในสหรัฐฯ และยุโรป ได้แก่โกล์ดแมน แซค, ดอยซ์ แบงก์, บาร์เคลย์, เครดิต สวิส, แบงก์ออฟอเมริกา, บีเอ็นพี พาริบาสและ ซิตี้กรุ๊ป โดยฟิทซ์แถลงว่า บริษัทเหล่านี้ต้องเผชิญความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในตลาดการเงินซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงในด้านกฎระเบียบ
ขณะที่ JP Morgan ชี้ปีหน้าสดใส หุ้นขึ้น กำไรพุ่ง ขณะวิกฤติยุโรปคลี่คลาย โดยคาดว่า S&P 500 อาจพุ่งแตะระดับ 1,430 จุดภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งคาดว่าปัญหาหนี้ยุโรปจะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจของจีนอาจจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะทรุดตัวในปีหน้าได้ โดยการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ในปีหน้าจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนดีมากในปีหน้า และกำไรสุทธิของบริษัทต่างๆ จะปรับตัวดีขึ้นในปีหน้าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทการลงทุน ICI แถลงว่า กองทุนหุ้นสหรัฐฯ กำลังเผชิญเงินทุนไหลออกเป็นสัปดาห์ที่ 13 ติดต่อกันแล้ว ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นจะมีเสถียรภาพในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนกองทุนรวมได้เร่งรีบเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง และอัดฉีดเม็ดเงินเกือบ 3.55 พันล้านดอร์ลาร์เข้าสู่กองทุนตราสารหนี้แทนเนื่องจากในภาวะตลาดผันผวน นักลงทุนยังคงชื่นชอบการลงทุนในพันธบัตรมากกว่าหุ้น

ด้านธนาคารกลางยุโรปหวั่นกฎเพิ่มการกันสำรองกองทุนอาจกระทบเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า โดยธนาคารกลางยุโรปกังวลว่าสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากกฎดังกล่าวจะกระทบการปล่อยสินเชื่อภาคธนาคารสำนักงานธนาคารกลางยุโรปเผยว่า ธนาคารต่างๆ ควรดำรงเงินกองทุนหลักขั้นที่ 1 ที่ระดับ 9% ของสินทรัพย์ที่มีการถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งมากกว่าขั้นต่ำที่ 7% ที่ธนาคารทั่วโลกเห็นพ้องว่าจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งกฎดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารทำการเทขายสินทรัพย์ และปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้ให้เข้มงวดขึ้นเพื่อบรรลุข้อกำหนดการดำรงกองทุนใหม่อาจทำให้เกิดการสร้างเงื่อนไขสำหรับการหดตัวลงรุนแรงหรือภาวะถดถอยในปีหน้านั่นเอง2 . อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยให้ผลตอบแทนสูงถึง6.47% สูงสุดตั้งแต่ปี 1999 จากการเปิดประมูลในตลาดแรก

ทั้งนี้อิตาลีเปิดประมูลพันธบัตรประเภท 5 ปี ในวงเงิน 3 พันล้านยูโร โดยจ่ายผลตอบแทน6.47% ซึ่งสูงสุดตั้งแต่มีการใช้เงินยูโร และแสดงให้เห็นถึงแรงกดดันในตลาดก่อนที่จะต้องระดมเงินทุนใหม่ราว 4.40 แสนล้านยูโรในปี 2012 อย่างไรก็ตาม พันธบัตรอิตาลียังคงมีสภาพคล่องสูงในตลาดรอง โดยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารกลางยุโรป ซึ่งเป็นผู้ซื้อพันธบัตรอิตาลีรายใหญ่ที่สุด ขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศจับตาเครดิต 6 ประเทศยูโรโซนในเครดิตพินิจเชิงลบ โดยประเทศดังกล่าว ได้แก่ เบลเยี่ยม สเปน สโลเวเนีย อิตาลี ไอร์แลนด์ และไซปรัส ซึ่งทางฟิทช์ได้ให้เหตุผลในการปรับลดจากมุมมองที่ว่า ยุโรปจะยังคงไม่สามารถหาทางออกแบบเบ็ดเสร็จสำหรับวิกฤตหนี้ยูโรโซนได้ โดยทางฟิทช์ต้องการเห็นสัญญาณอย่างชัดเจนในเชิงรุกมากกว่านี้จากธนาคารกลางยุโรป

ขณะที่ข้อตกลงประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดเงินกลับมาได้ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปต้องแทรกแซงอีกครั้ง
? ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเตรียมรับมือหากเกิดการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหลังมูดี้ส์ และ S&P อาจทบทวนความน่าเชื่อถือของประเทศสมาชิกอียู ซึ่งหากมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงจากระดับ AAA อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ลงด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศจีน สื่อจีนคาดว่าทางการจีนจะดำเนินนโยบายการเงินที่รอบคอบและนโยบายการคลังเชิงรุกสำหรับปีหน้าโดยจีนจะยังดำเนินนโยบายการเงินที่รอบคอบและนโยบายการคลังในเชิงรุกในปี 2012 เป็นการสนับสนุนแนวทางของผู้นำระดับสูงของจีนอีกทั้งจีนจะรักษาเสถียรภาพของเงินหยวน ขณะที่ลดอัตราดอกเบี้ยและปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยน บ่งชี้ให้เห็นว่า จีนพร้อมที่จะปรับนโยบายเศรษฐกิจมากกว่าที่จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินโดยตรง เพื่อช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จีนเผยว่าการส่งออกของจีนอาจเผชิญภาวะยากลำบากในไตรมาสหนึ่งปีหน้า กระทรวงพาณิชย์ของจีนเปิดเผยว่า ผู้ส่งออกของจีนจะประสบกับสภาวะที่ยากลำบากมากในไตรมาสหนึ่งปีหน้า เนื่องมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและปัญหาหนี้ยุโรปที่จะยืดเยื้อต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกและการนำเข้าของจีน โดยในเดือน พ.ย. การส่งออกและการนำเข้าของจีนได้ชะลอตัวลง แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศได้ลดลง จะทำให้จีนเปลี่ยนไปดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้น

นอกจากนี้จีนอาจออกกฎห้ามธนาคารขนาดเล็กเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น โดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของจีนอาจออกกฎที่อนุญาตเฉพาะธนาคารที่มีสินทรัพย์อย่างน้อย 1 แสนล้านหยวนเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ทั้งนี้ ธนาคารระดับภูมิภาคมากกว่า 24 แห่ง รวมถึงธนาคารแบงก์ ออฟ
เซี่ยงไฮ้และแบงก์ ออฟ หังโจว กำลังยื่นขออนุมัติจาก CSRC สำหรับการทำ IPO แต่ CSRCลังเลที่จะอนุมัติคำขอทั้งหมด เนื่องจากกระแสการทำ IPO หุ้นธนาคารอาจทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น A-share ส่งผลให้ CSRC ตัดสินใจที่จะกำหนดมาตรฐานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ควบคุมกฎระเบียบธนาคารของจีนได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ่งนี้อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ขยายขนาดสินทรัพย์และสวนทางกับทิศทางของกฎระเบียบและการกำกับดูแลภาคธนาคาร

ส่วนทางด้านธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 8.5% ยุติการขึ้นดอกเบี้ย 13ครั้ง โดยเป็นการสะท้อนถึงปัญหาของเศรษฐกิจอินเดียที่มีการชะลอตัวลงอย่างมากโดยธนาคารกลางอินเดียมีความจำเป็นในการหยุดขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว ถึงแม้ว่าระดับเงินเฟ้อของอินเดียจะยังคงอยู่ในระดับสูงก็ตาม นอกจากนี้ RBI ยังได้ประกาศคงสัดส่วนการกันสำรองเงินสดของธนาคารที่ 6% เท่าเดิม ผิดคาดจากที่ตลาดคาดว่าจะมีการปรับลดลง
ขณะเดียวกันรัฐบาลอินเดียออกใบอนุญาตเป็นครั้งแรกสำหรับการส่งออกน้ำตาลราว 1 ล้านตันโดยการอนุญาตดังกล่าวเป็นใบอนุญาตสำหรับการเริ่มส่งออกน้ำตาลล็อตแรกที่ปริมาณ22,000 ตัน การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลอินเดีย ได้สะท้อนถึงภาวะอุปทานล้นตลาดอย่างมากของตลาดน้ำตาลในประเทศอินเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น