xs
xsm
sm
md
lg

คาดวิกฤตหนี้ยุโรปกดศก.โลกต่อ แนะจับตาดูวิธีแก้ปัญหาของอียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เศรษฐกิจโลกเสี่ยงต่อการชะลอตัว จากวิกฤตหนี้ยุโรป จนเกิดการเทขายสินทรัพย์ทั่วโลกรวมทั้งทองคำ ขณะที่ ECB เน้นรักษาสภาพคล่องแก่แบงก์พาณิชย์ในยุโรป พร้อมจับตาการช่วยเหลือของเยอรมัน

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี จำกัด รายงานภาวะเศรษฐกิจว่า จากความกังวลว่าปัญหาหนี้สินในยุโรปที่ยากต่อการแก้ไขจะกลายเป็นจุดเสี่ยงในการเกิดวิกฤติหนี้สินอีกครั้ง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในซีกโลกตะวันตกเสี่ยงต่อการชะลอตัวมากขึ้นในปีหน้า ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังสร้างผลตอบแทนสูงกว่าตลาดเอเชียโดยรวม ทำให้กลายเป็นเป้าหมายของการทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงการทำ unwind US Dollar Carry trade เพื่อกลับไปถือเงินดอลลาร์ด้วยส่วนหนึ่ง

ขณะที่สถานการณ์ของราคาทองคำนั้น CME Group ผู้ประกอบการและบริหารตลาด NYMEX ได้ประกาศปรับเพิ่มค่ามาร์จิน หรือเงินหลักประกันในการซื้อสัญญาล่วงหน้าทองคำ โลหะเงิน และทองแดง โดย CME ได้ปรับเพิ่มมาร์จินทองสำหรับนักเก็งกำไรอีก 21.4% สู่ 11,745 ดอลลาร์/สัญญาทอง 100 ออนซ์ หลังจากที่ราคาทองคำมีการปรับตัวผันผวนในช่วงที่ผ่านมาและมีการเก็งกำไรค่อนข้างสูง การเพิ่มมาร์จินดังกล่าวทำให้ต้นทุนการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากว่า 15% และเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงเทขายในโลหะมีค่าในช่วงที่ผ่านมา

ด้านนักลงทุนสหรัฐฯ ได้ถอนเงินลงทุน 5.892 พันล้านดอลลาร์ออกจากกองทุนหุ้นในช่วงสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่เป็นการถอนออกจากกองทุน ETF ซึ่งเงินทุนที่เข้าออกจากกองทุน ETF ได้รับการยอมรับในตลาดว่า เป็นตัวเลขสะท้อนความเห็นของนักลงทุนสถาบัน โดยกองทุนดัชนีขนาดใหญ่ 4 แห่ง ที่มีการถอนเงินออกมามากที่สุด คือ กองทุน iShares Russell 2000 Index ETF, SPDR S&P 500 ETF, iShared MSCI Emerging Market ETF และ I Shares Russell 1000 growth Index ETF เงินทุนที่ไหลออกจากกองทุนดังกล่าวส่งผลให้เกิดแรงเทขายในตลาดหุ้นทั่วโลก

สำหรับความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจยุโรป สภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนี มีมติให้ความเห็นชอบต่อการขยายอำนาจ และบทบาทของกองทุนรักษาเสถียรภาพ (EFSF) โดยรัฐสภาเยอรมนี ไซปรัส และเอสโตเนีย ได้อนุมัติให้มีการขยายอำนาจของ EFSF โดยอำนาจและบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกองทุน EFSF นั้นจะช่วยให้กองทุนสามารถเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตร ขยายวงเงินสินเชื่อสำรองให้แก่รัฐบาลของประเทศต่างๆ และปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาลสำหรับเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงในการเพิ่มทุนธนาคาร โดยขณะนี้ประเทศสมาชิกยูโรโซน 14 จาก 17 ประเทศ ได้ลงมติอนุมัติการขยายอำนาจและบทบาทของกองทุน EFSF แล้วได้แก่ เบลเยี่ยม ไซปรัส ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก โปรตุเกส สเปน สโลเวเนีย เอสโตเนีย และออสเตรีย ความคืบหน้าดังกล่าวถือเป็นประเด็นเชิงบวกแต่ยังมีอีกบางประเทศที่ยังไม่ได้อนุมัติและยังคงต้องรอติดตามต่อไป

ทั้งนี้ ECB มองถึงตลาดเงินยูโรที่ได้เข้าสู่สภาวะชะงักงัน โดยเป็นผลมาจากวิกฤตหนี้ในยุโรป และ ECB อาจจะใช้นโยบายปล่อยเงินกู้ระยะ 1 ปี อีกครั้งเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา โดยทาง ECB มีจุดยืนที่ชัดเจนมากในเรื่องสภาพคล่องในยุโรป ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์มีหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม ทาง ECB ก็จะอัดฉีดสภาพคล่องให้แก่ธนาคารแห่งนั้น ทั้งนี้ นายโนวอทนี สมาชิกของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และประธานธนาคารกลางออสเตรีย กล่าวว่า กองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินยุโรป (EFSF) มีแนวโน้มที่จะมีการเพิ่มวงเงินแต่อาจจะไม่ได้มีขนาดเป็นล้านล้านยูโร และ ECB ยังไม่ตัดโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และอาจจะปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปลงไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น