โดยสุชาติ ธนฐิติพันธ์, ฝ่ายวิจัยและพัฒนาThaiBMA
หลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีของประเทศไทยได้เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสถานการณ์ล่าสุดเราพบว่าระดับน้ำที่เคยท่วมขังอยู่ในหลายๆพื้นที่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และในอีกหลายพื้นที่ระดับน้ำได้เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติแล้วนั้น ขั้นตอนต่อจากนี้ไปจึงเป็นช่วงของการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติโดยเร็วที่สุด และในช่วงนี้เองเราจะพบว่าหลายๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มสรุปตัวเลขความเสียหายและผลกระทบทั้งหมดที่เกิดจากวิกฤติน้ำท่วมในคราวนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP เป็นหลัก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจในหลายส่วนด้วยกันครับ
เริ่มจากตัวเลขของการบริโภคภาคเอกชน (C) ที่แน่นอนว่าปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงน้ำท่วม และคาดว่าจะยังคงลดลงต่อไปถึงแม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นแล้ว โดยหากนับเฉพาะแรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง (ที่ถูกน้ำท่วม) จำนวนกว่า 430,000 คนและแรงงานที่อยู่นอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฯ อีกกว่า 600,000 คน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง การว่างงานของแรงงานกว่า 1 ล้านคนนี้จะส่งผลต่อตัวเลขการบริโภคโดยรวมอย่างชัดเจน นอกจากนี้แล้วสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ยังสร้างความเสียหายให้กับประชาชนกว่า 9ล้านคนในอีก 20 จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมอีกด้วย (ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเมื่อวันที่ 18/10/54) ซึ่งมูลค่าความเสียหายในส่วนของรายได้ที่ขาดหายไปของผู้ประสบภัยทั้งหมด ประมาณการณ์ว่าน่าจะสูงถึง 1 ล้านล้านบาทเลยทีเดียวครับ
ถัดมาคือตัวเลขการลงทุนภาคเอกชน (I) ที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในช่วงน้ำท่วม ซึ่งอย่างไรก็ตามยังมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ภาคเอกชนจะกลับมาใช้จ่ายเพื่อลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วงที่น้ำลดลงแล้ว เช่นการลงทุนเพื่อซ่อมแซมโรงงาน ซ่อมแซมเครื่องจักร และการลงทุนเพื่อเพิ่มการผลิตทดแทนในส่วนที่ต้องหยุดการผลิตไป ในขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายภาครัฐ (G) ยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงน้ำท่วมและคาดว่าจะยิ่งสูงขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าหลังจากน้ำลดลงแล้ว เพื่อเป็นการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้ยังมีกระแสข่าวว่าสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เตรียมร่าง พ.ร.ก. เงินกู้เพื่อใช้ฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมในวงเงินประมาณ 4 - 5 แสนล้านบาท ซึ่งข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้นเราคงต้องรอการยืนยันจากรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง
ในขณะที่ตัวเลขการส่งออก (X) ได้ปรับตัวลดลงในช่วงที่น้ำท่วม แต่คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากสถานการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลายลง ทั้งนี้ในนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งที่ถูกน้ำท่วม พบว่ามีโรงงานรวมกัน 840 โรงงาน และส่วนใหญ่เป็นโรงงานส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก โดยนิคมฯ ทั้ง 7 แห่งนี้มีมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 40% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย ส่วนทางด้านตัวเลขการนำเข้า (M) ที่พบว่าเพิ่มขึ้นในช่วงน้ำท่วม และคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อไปในช่วงที่น้ำลดลงแล้ว เนื่องจากการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคหลายๆ รายการในช่วงที่น้ำท่วม ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น และหากน้ำลดลงแล้ว ภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องนำเข้าเครื่องไม้เครื่องมือ สินค้าและวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้อีกเป็นจำนวนมากนั่นเองครับ
โดยสรุปแล้ว สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้สำนักเศรษฐกิจหลายๆแห่งให้ความเห็นตรงกันว่า GDP ของไทยในปีนี้น่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2% - 2.5% จากตัวเลขเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าในปีนี้ GDP จะขยายตัวที่ประมาณ 4.5% - 5% แต่สำหรับในปีหน้า(2555) ด้วยการใช้จ่ายภาครัฐ (G) ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก บวกกับการลงทุนภาคเอกชน (I) ที่น่าจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้น พร้อมๆกับตัวเลขการส่งออก (X) ที่น่าจะดีขึ้นกว่าในปีนี้ ประกอบกับฐานการคำนวณ GDP ในปีหน้าที่จะอยู่ในระดับต่ำ (เนื่องจาก GDP ของปีนี้ค่อนข้างต่ำ)น่าจะทำให้ GDP ของไทยในปี 2555 กลับไปขยายตัวอยู่ในช่วง 4.5 - 5% ได้อีกครั้งโดยไม่ยากเย็น
สำหรับผลกระทบที่คาดว่าจะมีต่อตลาดตราสารหนี้ไทยนั้น ในเบื้องต้นเราคาดว่าน่าจะมีอยู่เพียงเล็กน้อยครับ เนื่องจากหนี้สาธารณะปัจจุบันของไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ ไม่น่าจะปรับลดความเชื่อถือของประเทศไทยในช่วงนี้ ประกอบกับความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ไทยยังคงมีอยู่ ทั้งจากนักลงทุนภายในประเทศ (เช่น บ.ประกันฯธนาคาร กองทุนรวม) และจากนักลงทุนต่างชาติ ที่ยังมองว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้ไทยยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าอีกหลายๆประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ประกอบกับปริมาณตราสารหนี้ในตลาดแรกที่จะยังมีออกมาอย่างต่อเนื่องตามแผนการฟื้นฟูประเทศของรัฐบาล
ทั้งหมดนี้น่าจะมีผลทำให้มูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ไม่น่าจะปรับตัวลดลง แต่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีนี้อีกด้วย นอกจากนี้แล้วการคาดการณ์ว่าในช่วงระยะเวลาต่อจากนี้ไป ธปท. น่าจะเริ่มทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยบวกที่ทำให้การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงคึกคักต่อไปอยู่เช่นเดิม เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยจะมีผลทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั่นเองครับ