xs
xsm
sm
md
lg

กูรูประเมินกนง.ไม่ขึ้นดอกเบี้ยR/P หลังน้ำท่วม-หนี้ยุโรปกดศก.ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝ่ายวิจัยบลจ.กรุงไทย ประเมินกนง.ยังไม่ขยับดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19 ตุลาคมนี้ หลังปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัด และปัญหาหนี้ยุโรปยังกดดันเศรษฐกิจไทย ขณะที่บล.เอเชียพลัสมองวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของโลกในรอบนี้ได้สิ้นสุดแล้วอาจสนับสนุนให้กนง.ยังไม่ขยับดอกเบี้ย R/P

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงขึ้นและกระจายไปในหลายพื้นที่ ประกอบกับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นนี้ไม่สดใสนัก นอกจากนี้หลายนโยบายของรัฐบาลที่มีความชัดเจนขึ้น เช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นได้น้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหากไม่สามารถทำได้ทั้งประเทศก็อาจทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อน้อยลง

อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการจำนำข้าว ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในอนาคตได้ แต่เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปอาจทำให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ตัดสินใจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยไว้ที่ 3.2% ในการประชุมวันที่ 19 ตุลาคม นี้ก็เป็นได้

ขณะที่รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชียพลัส ระบุว่า มุมมองของบล.เอเชียพลัส ที่คาดว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของโลกในรอบนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว และยังสนับสนุนว่า กนง. ไม่ควรจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้คือ 19 ต.ค. 2554 และ 30 พ.ย. 2554ดังนั้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.5% ถือว่าระดับที่สูงสุดของรอบนี้ ปัจจัยดอกเบี้ยน่าจะช่วยผ่อนคลายภาวะกดดันของตลาดจากวิกฤติการเงินในกรีซที่มีน้ำหนักถ่วงตลาดในระยะนี้

ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ข้อเสนอที่จะปรับเป้าหมายมาเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยรายปีที่ร้อยละ 3.0 (+/- ร้อยละ 1.5) ในปี 2555 จากปัจจุบันที่ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 0.5-3.0 เป็นเป้าหมาย น่าจะทำให้ กนง.มีความยืดหยุ่นและสามารถใช้วิจารณญาณในการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้มากขึ้น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าจากปัจจัยด้านอุปทานที่มักอยู่เหนือความควบคุม อาทิ ราคาน้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าโภคภัณฑ์

อย่างไรก็ดีแม้ในระยะสั้น ประเด็นด้านเสถียรภาพจะยังไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล อันทำให้การพิจารณาปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในปี 2555 ดูเสมือนว่าน่าที่จะสามารถดำเนินการได้โดยไม่สร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น แต่มองไปในระยะกลางถึงยาว หากรัฐบาลยังคงเน้นการดำเนินนโยบายเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อันจะสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น กลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่สมดุล คงจะยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ซึ่งภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ความท้าทายของการดำเนินนโยบายของทางการคงจะอยู่ที่การให้ความสำคัญกับการรักษากรอบวินัยทางการคลัง การดูแลการก่อหนี้ และการควบคุมภาวะฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีสมดุลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

สำหรับนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ด้วยน้ำหนักความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ความเป็นไปได้ที่ลดลงที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2554 ผนวกกับการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2555 คงจะทำให้ความจำเป็นที่ กนง.จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในช่วงที่เหลือของปี 2554 และต่อเนื่องถึงปี 2555 มีลดลง หลังจากที่ กนง.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องมาที่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้นที่ร้อยละ 3.50 ในปัจจุบัน ทั้งนี้ คงจะต้องติดตามข้อสรุปสุดท้ายสำหรับการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2555 ที่กระบวนการถัดจากนี้ จะมีการนำข้อตกลงร่วมระหว่าง กนง.และรัฐมนตรีคลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น