xs
xsm
sm
md
lg

ชี้สินค้าเกษตรความเสี่ยงไม่แพ้หุ้น แนะลงทุนผ่านกองทุนได้แต่ยังผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ. บัวหลวง เผยลงทุนสินค้าเกษตรเป็นอีกทางเลือกของนักลงทุนไว้เก็งกำไร แต่มีความเสี่ยงไม่แพ้หุ้น ชี้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในไทยไม่คึกคักหลังมีผลิตภัณฑ์อ้างอิงเพียง 4 ชนิด

รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า การลงทุนในตลาดสินค้าเกษตร อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนใช้เพื่อการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน แต่สิ่งที่นักลงทุนควรตระหนักไว้ คือ ราคาสินค้าเกษตรเองก็มีความผันผวนไม่ต่างจากหุ้นตัวหนึ่ง เนื่องจากหากสินค้าเกษตรตัวหนึ่งราคาสูง เกษตรกรก็จะเปลี่ยนไปปลูกสินค้าเกษตรตัวนั้นแทน ทำให้ราคาที่สูงนั้นไม่ยั่งยืน นักลงทุนต้องเข้าใจอุปสงค์อุปทาน ของสินค้าเกษตรนั้นๆ เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันราคา

นอกจากนี้การซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) ที่จากเดิมผู้ประกอบการใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยง หรือต้องการการส่งมอบสินค้าจริงๆ แต่ ณ ปัจจุบัน นักลงทุนสถาบัน กองทุน Hedge Fund หรือแม้แต่นักลงทุนรายย่อยต่างเข้าไปมีบทบาทในการซื้อขาย ทั้งลงทุนเพื่อการกระจายความเสี่ยง หรือในแง่การเก็งกำไร ทำให้การลงทุนในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าหรือการลงทุนผ่านกองทุนรวมในปัจจุบันก็มีความเสี่ยงไม่แตกต่างไปจากลงทุนในหุ้นตัวหนึ่ง และในบางช่วงเวลาอาจมีความเสี่ยงและความผันผวนที่มากกว่าการลงทุนในหุ้นด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร มีปัจจัยหลักมาจาก สินค้าเกษตรนั้นๆ เกิดการขาดแคลน จากสภาวะอากาศที่ผิดปกติ เช่น น้ำท่วมภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางพาราที่สำคัญและเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก หรือการเกิดน้ำท่วมในรัฐควีนส์แลนด์ ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นรัฐที่ผลิตอ้อยและน้ำตาลมากถึง 95% ของผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทั้งหมดของประเทศ และประเทศออสเตรเลียเอง เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 3 ของโลก

ขณะเดียวกัน ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรยังคงอยู่ในระดับสูง และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากประเทศจีน และอินเดีย ซึ่งมีประชากรรวมกัน 2 ประเทศ คิดเป็นอัตราส่วนถึง 36.9% ของจำนวนประชากรโลก นอกจากนั้น การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ส่งผลให้เกิดการนำสินค้าเกษตรบางชนิดไปใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด นำไปใช้ผลิตเอทานอล และถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน นำไปใช้ผลิตไบโอดีเซล ยิ่งเป็นการกระตุ้นความต้องการของสินค้าเกษตรเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในประเทศไทยเองมีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เช่นกัน แต่ยังไม่เป็นที่นิยมของนักลงทุน เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ไม่หลากหลาย โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อ้างอิงเพียง 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ยางแผ่นรมควัน และมันสำปะหลังเส้น อีกทั้งยังมีสภาพคล่องในการซื้อขายน้อย อีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุน คือ ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในหน่วยลงทุนต่างประเทศที่มีผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนีสินค้าเกษตรต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีอ้างอิงที่กองทุนรวมเหล่านี้ลงทุนก็มีความผันผวนเช่นกัน ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยสินค้าเกษตร 22 ชนิด เช่น ข้าวโพด น้ำตาล ฝ้าย ซึ่งกองทุนรวมต่างประเทศหลาย ๆ แห่งจะใช้ดัชนีนี้ในการอ้างอิงผลตอบแทน จะเห็นได้ว่าตัวดัชนีเองมีความผันผวนเหมือนตลาดหุ้น และดัชนี ณ ปัจจุบันปรับตัวลงมา 11% จากระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา และหากพิจารณาสินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ฝ้าย และน้ำตาลทรายดิบ จะพบว่า ราคา ณ ปัจจุบัน ปรับตัวลงมา 31% 52% และ 14% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับราคาสูงสุดเมื่อช่วงต้นปี เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิต และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากนักลงทุนมีการเข้าซื้อที่ผิดจังหวะ จะทำให้เกิดการขาดทุนในระดับสูงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น