xs
xsm
sm
md
lg

นายกสมาคมผู้เลี้ยงหมูภาคใต้ ชี้เขียงหมูไม่มีขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “หมู” วิกฤต ขาดอาหารหลัก “รำข้าว” โรงสีเก็บแต่ข้าวเปลือก ไม่ยอมสีข้าวออก อีกทั้งราคาขยับพุ่ง ปัญหาหมูแพง เพราะขาดแคลนจริงๆ ไม่ได้กักตุน ปัจจัยน้ำท่วมภาคใต้ อีกทั้งหมูภาคกลางส่งขายภาคเหนือ อีสาน ใต้ต้องพึ่ง ราคาต้นทุนสูงขึ้น พอถึงเขียงราคาก็คูณ 2 จึงทำให้แพงขึ้นอีก ชี้ “เขียงหมู” ไม่เคยขาดทุน ตอนนี้ถูกควบคุมเนื้อแดง ก็เอาเนื้อกลุ่มอื่นๆ มาทำราคาทดแทน

วันนี้ (14 ส.ค.) นายวิชัย มงคล นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดพัทลุง และอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า เขียงหมูตลาดสดเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา มีผู้ค้าส่งให้ตั้งแต่ผู้เลี้ยงสุกร จ.ตรัง พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และ จ.นครปฐม ปัจจุบันสุกรมีชีวิตราคาควบคุมที่หน้าฟาร์ม ภาคใต้ 87 บาท แต่ที่พัทลุงขายเพียง 82 บาท/กก.

“สุกรประเภท 100 กก. เดิมเขียงจะมีกำไร 700 บาท ถึง 1,500 บาท ซึ้งขณะนี้มาเหลืออยู่ที่ 300 บาท จึงไม่พึงพอใจ ในขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรเองมีกำไรประมาณ 1,000 บาท/ตัว แต่เวลาขาดทุน ประมาณ 1,200 บาท/ตัว ผู้เลี้ยงสุกรที่มีจำนวนหลายร้อยตัวหลายพันตัว ก็ขาดทุนมากที่ผ่านมา”

นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาวะที่สุกรในภาคใต้ขาดแคลนเนื่องจากปัญหาเกิดอุทกภัยในภาคใต้ที่ผ่านมา ความจริงสุกรในภาคใต้ พอเพียงต่อการบริโภค เมื่อขาดแคลนก็ต้องพึ่งพาจากภาคกลาง จึงทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และต้นทุนที่มาจากภาคกลางโดยรวมสูงขึ้นถึง 6 บาท/กก.

“สุกรที่เกิดภาวะวิกฤต จากไม่เคยเจอมาในรอบหลายปี ประเด็นสำคัญ เกิดโรคระบาดในสุกร ในภูมิภาคนี้ และไทยค้าส่งไปยังประเทศลาว กัมพูชา เนื่องจากมีราคาที่สูงกว่า จนภายในประเทศต้องขาดแคลนสุกรขนาด 105-110 กก. จนต้องนำสุกรขนาด 80 กก.ออกมาขาย และกว่าจะเข้ารอบอีกจะต้องใช้เวลา 4 ถึง 6 เดือน จนทำให้ขาดแคลนเพิ่มขึ้น”

นายเกรียงศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ราคาควบคุมหน้าฟาร์มสุกรมีชีวิต 87 บาท/กก. สุกรเนื้อแดงชำแหละ ราคาควบคุม 162 บาท/กก. ซึ่งเป็นการควบคุมราคา 2 ข้าง ซึ่งเดิมควบคุมแต่สุกรหน้าฟาร์มของเกษตร ทำให้พ่อค้าเขียงหมูซื้อสุกรราคาถูก ก็ยังคงนำมาขายในราคาเดิม ซื้อราคาสูงก็ราคาคงเดิมและขยับขึ้น พ่อค้าเขียงมีแต่กำไรกับทรงตัวที่ผ่านมา

นายเกรียงศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับเขียงหมูไม่ได้มีปัญหาขาดทุนแต่มีกำไรน้อย จึงต้องออกมา เพราะถ้าสุกรมีชีวิตราคาควบคุมอยู่ที่ 87 บาท/กก. เขียงก็จะต้องทำราคาอยู่ที่ 174 บาท แต่รัฐควบคุมขายอยู่ที่ 162 บาท ซึ่งเป็นเนื้อแดง แต่รัฐบาลไม่ได้ควบคุเนื้อในส่วนอื่นๆ เขียงจึงเอากลุ่มเนื้อ ซี่โครง 3 ชั้น กระดูกอ่อน เนื้อหัวไหล่ เนื้อสันคอ กลุ่มนี้มาทำราคาอยู่ที่ 130 บาท และ 145 บาทมาทดแทน โดยปกติเนื้อกลุ่มนี้ราคาจะห่างกับเนื้อแดงประมาณ 30 บาท

“สำหรับเขียงแล้วไม่ประสบภาวะขาดทุน ทรงตัวกับกำไรเท่านั้นแต่ผู้เลี้ยง มีกำไรกับขาดทุน และเวลาขาดทุนก็หมดตัว ทั้งบ้านและโฉนดที่ดิน เพราะบางรายที่เลี้ยง 500 แม่ ต้องลงทุนถึง 80-100 ล้านบาท ที่ผ่านมารัฐบาลก็ไม่ได้เหลียวแลอะไรเลย”

นายเกรียงศักดิ์กล่าวต่ออีกว่า ในขณะนี้เกิดภาวะวิกฤตขาดรำข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของสุกรในการเลี้ยง ไม่มีรำข้าว เพราะโรงสีข้าวเก็บข้าวเอาไว้ไม่ทำการสีข้าวออกมา และราคารำข้าวจากเดิม 8 บาท/กก. ก็ขยับขึ้น 10 บาท/กก., ถั่ว 11 บาท/กก. ขยับเป็น 15 บาท/กก. ซึ้งอาหารสุกรโดยภาพรวมแล้วขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์

“แนวโน้มสุกรต้องปล่อยไปตามกลไกการตลาด รัฐบาลเข้าเล่นกับสุกรจนเกินไป เกษตรกรไม่มีสินค้าจริงๆ ไม่มีการกักตุนสุกร จึงขอแนะผู้บริโภคโปรตีนเมื่อเห็นว่าสุกรมีราคาสูง จึงควรหันไปรับประทานเนื้อไก่แทนก่อน จนอีกระยะเวลาหนึ่งราคาสุกรจะเข้าสู่ภาวะปกติ”
กำลังโหลดความคิดเห็น