xs
xsm
sm
md
lg

เผยวิกฤตหมูแพงเพราะขาดรำข้าว ฉุดอาหารหมูพุง 20%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัทลุง - นายกสมาคมผู้เลี้ยงหมูภาคใต้เผย เหตุหมูขาดแคลนเพราะเกิดโรคและส่งออกเยอะ โตไม่ทัน ซ้ำร้ายราคาอาหารหมูพุ่ง 20% รำข้าวขาดเพราะโรงสีไม่ยอมสีข้าว แนะบริโภคไก่จนกว่าราคาหมูจะเข้าที่

นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาวะขาดแคลนสุกรในภาคใต้ เนื่องมาจากการเกิดอุทกภัยในภาคใต้ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ความจริงสุกรในภาคใต้เพียงพอต่อการบริโภค แต่เมื่อขาดแคลนก็ต้องพึ่งพาจากภาคกลาง จึงทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และต้นทุนที่มาจากภาคกลางโดยรวมสูงขึ้นถึง 6 บาทต่อกิโลกรัม

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการเกิดโรคในสุกร และการค้าส่งสุกรออกนอกประเทศไปยัง ลาว กัมพูชา ทำให้ภายในประเทศขาดแคลนสุกรขนาด 105 - 110 กิโลกรัม จนต้องนำสุกรขนาด 80 กิโลกรัมออกมาขาย และกว่าจะเข้ารอบอีกจะต้องใช้เวลา 4 - 6 เดือน จึงทำให้ขาดแคลนเพิ่มขึ้น

นายเกรียงศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ราคาควบคุมหน้าฟาร์ม สุกรมีชีวิตอยู่ที่ 87 บาทต่อกิโลกรัม สุกรเนื้อแดงชำแหละแล้วอยู่ที่ 162 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นการควบคุมราคา 2 ข้าง ทั้งนี้ แต่เดิมควบคุมแต่สุกรหน้าฟาร์ม ทำให้พ่อค้าเขียงหมูซื้อสุกรราคาถูกแต่ยังคงนำมาขายในราคาเดิม ซื้อราคาสูงก็ราคาคงเดิมและขยับขึ้นด้วย ที่ผ่านมาพ่อค้าเขียงมีแต่กำไรกับทรงตัว

สำหรับเขียงหมูไม่ได้มีปัญหาขาดทุนเพียงแต่มีกำไรน้อย จึงต้องออกมาเคลื่อนไหว เพราะถ้าสุกรมีชีวิตราคาควบคุมอยู่ที่ 87 บาทต่อกิโลกรัม เขียงก็จะต้องทำราคาอยู่ที่ 174 บาทต่อกิโลกรัม แต่รัฐควบคุมราคาเนื้อแดงอยู่ที่ 162 บาท โดยไม่ได้ควบคุมเนื้อในส่วนอื่นๆ ด้วย เขียงจึงเอากลุ่มเนื้อซี่โครง 3 ชั้น กระดูกอ่อน เนื้อหัวไหล่ เนื้อสันคอ กลุ่มนี้มาทำราคาอยู่ที่ 130 บาท และ 145 บาท มาทดแทน

ทั้งนี้ โดยปกติเนื้อกลุ่มนี้ราคาจะห่างกับเนื้อแดงประมาณ 30 บาท ดังนั้น สำหรับเขียงแล้วถือว่าไม่ประสบภาวะขาดทุน มีแต่ทรงตัวกับกำไรเท่านั้น แต่ผู้เลี้ยงมีกำไรกับขาดทุน และเวลาขาดทุนก็หมดตัวทั้งบ้านและโฉนด เพราะบางรายที่เลี้ยงแม่พันธุ์จำนวน 500 ตัว ต้องลงทุนถึง 80 - 100 ล้านบาท

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ยังกล่าวเสริมอีกว่า ในขณะนี้เกิดภาวะวิกฤติขาดรำข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของสุกรด้วย เพราะโรงสีข้าวเก็บข้าวเอาไว้ แต่ไม่ทำการสีข้าวออกมา ทำให้ราคารำข้าวจาก 8 บาทต่อกิโลกรัม ขยับขึ้นเป็น 10 บาทต่อกิโลกรัม ราคาถั่ว 11 บาทต่อกิโลกรัม ขยับเป็น 15 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ อาหารสุกรโดยภาพรวมแล้วขึ้นราคาถึง 20 % แนวโน้มราคาสุกรจึงต้องปล่อยไปตามกลไกการตลาด รัฐบาลเข้าเล่นกับสุกรจนเกินไป เกษตรกรไม่มีสินค้าจริงๆ ไม่มีการกักตุนสุกร

จึงขอแนะผู้บริโภคว่าเมื่อเห็นสุกรมีราคาสูง จึงควรหันไปรับประทานเนื้อไก่แทนก่อน จนอีกระยะเวลาหนึ่งราคาสุกรจะเข้าสู่ภาวะปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น