xs
xsm
sm
md
lg

ประเดิมกองพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ KTAMให้1.20% บวก Inflation

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.กรุงไทย จับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อตั้งกองทุน เหมาะกับนักลงทุนระยะยาวชอบความเสี่ยงต่ำ ชูจุดเด่นผลตอบแทนประมาณ 1.20%ต่อปีบวกอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี เปิดขายไอพีโอตั้งแต่วันนี้ถึง 18 ก.ค. 54

นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทจะเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ ( KTILB )ในวันที่ 8-18 กรกฎาคม 2554 อายุ 10 ปี มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท เงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ ( ILB )ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ ตราสารการเงินอื่น ตามที่สำนักงานก.ล.ต.กำหนด

โดยคาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทน จากผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ ( ILB ) ประมาณ 1.20% ต่อปี บวกกับอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ได้จาก ILB และอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี จะสะสมอยู่ในกองทุน ซึ่งกองทุนมีนโยบายจ่ายผลตอบแทนคืนให้กับผู้ลงทุนในทุก 6 เดือน โดยจะจ่ายคืนในส่วนของอัตราดอกเบี้ยของ ILB เท่านั้น หลังหักค่าใช้จ่ายจากกองทุน ทั้งนี้ บุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย

สำหรับจุดเด่นของกองทุนนี้ เป็นสินทรัพย์ทางเลือกสำหรับการลงทุนระยะยาวที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตต่ำ กองทุนนี้จะรักษาเงินต้นและผลตอบแทนของผู้ลงทุนตามที่ได้กำหนดไว้ และคาดว่ากองทุนจะสร้างผลตอบแทนสุทธิได้สูงกว่าผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ จากการลงทุนเองโดยตรง นอกจากนี้ จะเปิดให้ผู้ลงทุนที่ต้องการสภาพคล่อง สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ หลังจากครบ 2 ปีแรก ซึ่งบริษัทจะแจ้งวันและเวลาในการขายคืนหน่วยลงทุน ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ในอัตรา 3.90% ต่อปี (ข้อมูจาก Thai BMA ณ . 5 ก.ค. 2554 ) และเงินเฟ้อเฉลี่ยรายเดือนระหว่างปี 2530 ถึงปัจจุบัน อยู่ในอัตรา 3.71%ต่อปี ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ฝ่ายวิจับยของบลจ. กรุงไทย คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในระยะ 5 ปี ข้างหน้า จะอยู่ในช่วง3.1-4% ต่อปีโดยเฉพาะในปี 2554 คาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 4.20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการขาดดุลงบประมาณ ผลกระทบจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน รวมถึงการปรับขึ้นของราคาพลังงาน ค่าขนส่ง การทยอยปรับขึ้นของราคาสินค้า จะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มแกว่งตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก

โดยกองทุนนี้เหมะสำหรับเงินลงทุนของผู้ลงทุนที่ต้องการทางเลือกใหม่ และต้องการออมเงินเพื่อเก็บไว้ในอนาคต และรักษาค่าของเงินออมไม่ให้ลดลงเพราะอัตาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนแปรผันไปตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีเงินเฟ้อ จึงเหมาะสมกับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ

กองตราสารหนี้ระยะสั้นยังขายดี

รายงานข่าวจากบลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทกำลังอยู่ในช่วงเปิดขายหน่วยลงทุนกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย ตราสารหนี้ระยะสั้น 3M9 ตั้งแต่วันนี้ถึง 11 กรกฎาคม 2554 โดยกองทุนดังกล่าวมีอายุโครงการประมาณ 3 เดือน จำนวนเงินทุนโครงการอยู่ที่ 500 ล้านบาท และให้ผลตอบแทนประมาณการอยู่ที่ 3.00% ต่อปี

สำหรับกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย ตราสารหนี้ระยะสั้น 3M9 จะลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่เสนอขายในประเทศ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และ/หรือภาคเอกชน โดยอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตราสารหนี้ที่ออก รับรอง รับอาวัล หรือค้ำประกันการจ่ายเงินโดยสถาบันการเงิน หรือธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น รวมทั้งเงินฝาก

ด้านรายงานข่าวจากบลจ.บัวหลวง จำกัด ระบุว่า บลจ.กำลังอยู่ในช่วงเสนอขายกองทุนรวมบัวหลวงตราสารหนี้ชนิดระบุวันครบกำหนด 17/11(B-Fixterm 17/11) มีอายุโครงการประมาณ 3 เดือน ซึ่งให้ผลตอบแทนประมาณการอยู่ที่ 2.80% ต่อปี นอกจากนี้ยังเปิดขายกองทุนรวมบัวหลวงตราสารหนี้ชนิดระบุวันครบกำหนด 18/11 หรือ B-Fixterm 18/11ซึ่งมีอายุโครงการอยู่ที่ 6 เดือน ให้ผลตอบแทนประมาณการอยู่ที่ 3.28% ต่อปี โดยจะเปิดขายหน่วยลงทุนตั้งแต่วันนี้ถึง 12 กรกฎาคม 2554

โดยกองทุนรวมบัวหลวงตราสารหนี้ชนิดระบุวันครบกำหนด 17/11 และและกองทุนรวมบัวหลวงตราสารหนี้ชนิดระบุวันครบกำหนด 18/11จะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจไทย เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือพันธบัตร หรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลัง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกันตราสารหนี้สถาบันการเงินไทย เช่น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้ ตราสารหนี้ ที่ออกรับรอง รับอาวัล ค้ำประกันโดยธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และหรือธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นตราสารหนี้ภาคเอกชนไทย ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของตัวตราสาร และหรือผู้ออกตราสารในระดับ Investment Grade ณ วันที่ลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น