xs
xsm
sm
md
lg

Thailand Only...กับกองทุนทริกเกอร์ฟันด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยอาทิตย์ คุสิตา
dhusita@hotmail.com

ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยและตลากหุ้นทั่วโลก กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวตามเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้เราเห็นกองทุนประเทศทาร์เก็ตฟันด์ หรือจะเรียกอีกสไตล์ว่าทริกเกอร์ฟันด์ ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกองทุนที่ออกมาส่วนใหญ่ล้วนได้รับความนิยมจากนักลงทุนบ้านเราเป็นอย่างดี

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า กองทุนทาร์เก็ตฟันด์หรือทริกเกอร์ฟันด์เหล่านี้ มีขายเพียงในประเทศไทยเท่านั้น...!!!

การลงทุนในลักษณะของการกำหนดผลตอบแทนแบบมีเป้าหมายเช่นนี้ ในต่างประเทศ จะออกมาในรูปแบบของกองทุนทาร์เก็ตเดทฟันด์ (Target Date Fund) โดยเป็นการกำหนดเป้าหมายผลตอบแทนหลังจากเกษียณหรือตามแต่ช่วงอายุที่นักลงทุนเลือก เช่น อายุ 40 อยากมีเงินเท่านี้ กองทุนก็จะจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมในแต่ละช่วง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด

กลับมาดูกองทุนทาร์เก็ตฟันด์ในประเทศไทยกันบ้าง ...รูปแบบของกองทุนนี้ ส่วนใหญ่เป็นกองทุนระยะสั้นอายุประมาณ 1 ปี และมีนโยบายลงทุนในหุ้นเป็นหลัก (ทั้งในและต่างประเทศ) อาจจะมีกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ บ้าง เช่น ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น

กองทุนประเภทนี้ จะกำหนดอายุการลงทุนที่ชัดเจน พร้อมๆ กับเงื่อนไขในการเลิกกองทุนไว้ 2 กรณี กรณีแรก หากกองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายก่อนครบกำหนดการลงทุนก็จะปิดกองทุนทันที กรณีที่ 2 ปิดกองทุนตามอายุโครงการ ซึ่งผลตอบแทนในช่วงเวลาดังกล่าวจะอยู่ที่จำนวนเท่าไหร่ ก็จะคือผลตอบแทนนั้นให้กับนักลงทุนตามจริง (กรณีนี้ มีทั้งเข้าเป้าและไม่เข้าเป้า)

ซึ่งจากการติดตามกองทุนทาร์เก็ตฟันด์ที่เปิดขายในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ผลตอบแทนของกองทุนเหล่านี้ เป็นไปตามเป้าหมาย บางกองยังสามารถปิดกองทุนได้ก่อนกำหนดด้วย...และด้วยเหตุนี้เอง ทำให้บรรดาบริษัทจัดการกองทุน พร้อมใจกันเพิ่มทางเลือกนี้ ให้นักลงทุนที่ต้องการหาผลกำไรให้กับเงินของตัวเอง ในผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ธีระ ภู่ตระกูล หนึ่งในบุคคลที่คลุกคลีอยู่ในวงการกองทุนรวม พูดถึงเรื่องนี้ว่า กองทุนทาร์เก็ตฟันด์ เป็นการทำการตลาดที่ผิดมาก และไม่ควรเอามาใช้ เพราะเป็นการส่งเสริมให้นักลงทุนมองการลงทุนระยะสั้นๆ เท่านั้น

“2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยขึ้นไป 100% แน่นอนว่าคนที่ลงทุนยาวได้ได้กำไรไปเต็มๆ แต่คนที่ลงทุนในทาร์เก็นฟันด์แล้วได้กำไรไปเพียง 10% ถือว่าน่าเสียดายมาก ขณะเดียวกัน คนลงทุนเอง บางครั้งยังไม่เข้าใจเงื่อนไขว่าสุดท้ายแล้วกองทุนมีความเสี่ยงที่ไม่ได้รับผลตอบแทนตามเป้า”

สถาปนะ เลี้ยวประไพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) บอกว่า ในบ้านเรา กองทุนทาร์เก็ตฟันด์เป็นกองทุนที่ออกมาเพื่อรับโอกาสของการปรับตัวขึ้นตลาดหุ้นล่วงหน้า ซึ่งเรื่องนี้ เราคงไปห้ามไม่ให้ทำการตลาด หรือห้ามไม่ให้ขายไม่ได้ แต่สิ่งที่เราจะทำได้คือ การกำชับให้กองทุนเหล่านี้ คำนึงถึงข้อมูลที่เปิดเผยให้ลูกค้าให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจความเสี่ยงและสามารถรับการผลตอบแทนที่เกิดขึ้นได้ กรณีที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

โดยข้อบังคับที่กำหนดให้ผู้ซื้อหน่วยลงทุนต้องกรอกแบบสอบถามเพื่อประเมินความเสี่ยงของตัวเองก่อนซื้อหน่วยลงทุน ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยได้ เพราะสุดท้ายแล้วนักลงทุนจะทราบความเสี่ยงของตัวเองว่า เหมาะสมกับกองทุนประเภทนี้หรือไม่ ซึ่งหากผลสำรวจออกมาแล้ว ปรากฏว่าไม่เหมาะ แต่ผู้ลงทุนต้องการที่จะลงทุน ก็จะให้เซ็นรับความเสี่ยง เพื่อให้สุดท้ายแล้ว หากผลการดำเนินงานของกองทุนที่ลงทุนไป ไม่ออกมาตามเงื่อนไขหรือเป้าหมาย ผู้ลงทุนนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง

“แม้ว่ากองทุนทาร์เก็ตฟันด์ในปัจจุบัน เป็นความต้องการของนักลงทุนบางกลุ่มเท่านั้น แต่เราเองก็กังวลว่า หากมันเปลี่ยนเป็นความต้องการของนักลงทุนส่วนใหญ่ ข้อมูลที่เปิดเผยจะเพียงพอหรือไม่ หรือมีความชัดเจนกับนักลงทุนยังไงบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเน้นให้สมาชิกและผู้ขายให้ความสำคัญด้วย” สถาปนะกล่าว

ทั้งหลายทั้งปวง...หากพูดถึงหลักการแล้ว กองทุนทาร์เก็ตฟันด์หรือทริกเกอร์ฟันด์ทั้งหลาย อาจจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนผิดทาง แต่สำหรับนักลงทุนแล้ว เชื่อว่าในพอร์ตการลงทุน ย่อมมีการจัดสรรเงินลงทุนเอาไว้เป็นสัดส่วนอยู่แล้ว บางคนอาจจะจัดสรรเงินส่วนหนึ่ง หรือสัก 20% มาลงทุนระยะสั้นๆ กับกองทุนประเภทนี้ ซึ่งสามารถยอมรับผลตอบแทนและความเสี่ยงนี้ได้ ส่วนที่เหลือ ก็อาจจะเป็นการลงทุนประเภทอื่นๆ กระจายความเสี่ยงกันไป

และท้ายที่สุดแล้ว เชื่อว่ากองทุนทาร์เก็ตฟันด์จะไม่ใช่การสร้างวินัยการลงทุนที่ผิด เพราะพอร์ตการลงทุนต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้มีความสอดคล้องกับสภาวะที่เปลี่ยนไป ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจ และตลาดหุ้นทั่วโลก กำลังฟื้นตัวเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการแสวงหาผลตอบแทนในความเสี่ยงที่ไม่สูงเกินไป เพราะ ก่อนที่จะออกกองทุนประเภทนี้ แน่นอนผู้จัดการกองทุนเอง ต้องมีการวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลอย่างดีแล้ว ...ส่วนผู้ลงทุนจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นการตัดสินใจของผู้ลงทุนเองว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน?

ดังนั้น คำว่า “โอกาสเป็นมักเป็นของผู้กล้าเสมอ” ก็น่าจะใช้กับคอนเซปต์ของกองทุนประเภทนี้ได้

อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับสิ่งที่ต้องทำและคำนึงถึง นั่นคือ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับนักลงทุน ทั้งนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง เงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทน และผู้ลงทุนเองต้องมีวินัยในตนเองด้วย เพราะเมื่อทุกคนรู้และเข้าใจการลงทุนดีแล้ว แน่นอนว่าคงไม่ต้องมานั่งโทษใคร…
กำลังโหลดความคิดเห็น