"ฟินันซ่า"เดินหน้าโกยเงินเข้าพอร์ต ส่งกองทุนหุ้นภาคบริโภค-บริการในเอเชีย ไอพีโอแล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 5 เมษายนนี้ มั่นใจแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียโตดันรายได้-พฤติกรรมการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น พร้อมปัดแผ่นดินไหวญี่ปุ่นทำพิษ ระบุนโยบายลงทุนไม่เกี่ยวข้องกับประเทศและบริษัทญี่ปุ่นแต่อย่างใด
นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ฟินันซ่า จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายกองทุนใหม่ กองทุน ฟินันซ่า เอเชี่ยน คอนซัมชั่น หลังจากที่ลูกค้าให้ความสนใจจำนวนมากในช่วงที่มีการจัดสัมนาให้ความรู้ โดยกองทุนนี้จะทำการเปิดขายตั้งแต่วันนี้ถึง 5 เม.ย. 2554
ทั้งนี้ กองทุนข้างต้นเป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุน (Feeder Fund ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน UBS Asian Consumption) มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มุ่งหวังผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่หรือดำเนินธุรกิจหลักในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) อันเป็นธุรกิจการขายสินค้าหรือให้บริการแก่ผู้บริโภคในเอเชีย ทั้งนี้ มีการถ่วงดุลการลงทุนโดยการกระจายพอร์ตในทั้งสินค้าบริโภคจำเป็น สินค้าบริโภคฟุ่มเฟือย (โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์) และสินค้าสุขภาพ ในหลากหลายประเทศ อาทิ อินเดีย จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ เป็นต้
"ที่ผ่านมาเอเชียพื้นตัวอย่างเข้มแข็งและเป็นผู้นำการเติบโตของโลก โดยการอุปโภคบริโภคของชาวเอเชียเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับการเติบโตของตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ ปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนแนวโน้มการเติบโตของเอเชียนั้นประกอบด้วยทั้งด้านประชากร การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง และวัฒนธรรมการบริโภค ประชากรเอเชียที่เข้าสู่วัยทำงานและมีรายได้เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมากกว่าประเทศในแถบยุโรปหรืออเมริกา การเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทสู่สังคมเมืองทำให้อัตราการจ้างงานและรายได้ต่อครัวเรือนสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมประกอบการมีเงินออมสูงขึ้นทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อความสะดวกสบายหรูหราเพิ่มมากขึ้น"นายธีรพันธุ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม กองทุนนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดโดยรวมบ้าง แต่ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุนอย่างมีนัยยะ เนื่องจากกองทุนไม่ได้มีการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น และกองทุนยังมีการลงทุนใน defensive stock เช่น บุหรี่ ซึ่งผลการดำเนินงานจะไม่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเท่าใดนัก นอกเหนือจากนั้น บริษัทที่กองทุนเลือกลงทุนบางบริษัทอาทิเช่น ซัมซุง หรือ ฮุนได ยังอาจมีส่วนแบ่งในตลาดที่เพิ่มขึ้นจากการเป็นสินค้าทดแทนกำลังการผลิตที่ขาดหายไปในญี่ปุ่นอีกด้วย
นายธีรพันธุ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นจากแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ จนมาถึงเรื่องของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้น ยอดความเสียหายอย่างเป็นทางการนั้นยังไม่อาจระบุได้ Goldman Sachs คาดว่ายอดความเสียหายอาจจะสูงถึง 16 ล้านล้านเยน
อย่างไรก็ตามภัยพิบัติที่ได้เกิดขึ้นนั้นส่งผลให้โรงงานหลายแห่งของบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น บริษัทผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ต้องหยุดกำลังการผลิตเป็นการชั่วคราว นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดการณ์ว่าเกาหลีอาจจะได้รับผลกระทบในเชิงบวกจากเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆจำนวนมาก และให้ความเห็นถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ในญี่ปุ่นกับเศรษฐกิจโลกว่า ผลกระทบอาจไม่มากนักเนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีขนาดประมาณร้อยละ 6 ของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการหดตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นทุกๆ 1% จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกประมาณ 0.06% เท่านั้น อีกทั้งผลกระทบดังกล่าวยังเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น โดยเมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยการลงทุนก่อสร้างฟื้นฟูบ้านเมืองจะเป็นตัวผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น