ผู้ว่าการ ธปท.จับตาผลกระทบ “ลิเบีย” กระทบราคาน้ำมันโลก ชี้ หากราคาพุ่งทะลุ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล อาจทำให้ไทยต้องขาดดุลการค้า เพราะไทยนำเข้าน้ำมันในระดับสูง ยืนยัน ญี่ปุ่นอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่กระทบค่าบาทไทย แต่จับตาใกล้ชิด เพราะค่าเงินเยนอิงกับดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมระบุ สถาบันการเงินญี่ปุ่นยังปกติ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบีย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกจะส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่าราคาที่ปรับสูงขึ้นมาในเวลานี้ยังถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าวิกฤตน้ำมันโลกในอดีต ประกอบกับการปรับสูงขึ้นยังมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งทำให้ตลาดเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ได้ทัน
นอกจากนี้ ยังพบว่า แหล่งผลิตน้ำมันได้กระจายในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกมากขึ้น อีกทั้งหากเทียบกับในอดีตแล้วปัจจุบันโลกรวมถึงประเทศไทยได้ลดปริมาณการใช้น้ำมันลงแล้ว ดังนั้น จึงคาดว่าหากราคาน้ำมันในตลาดไม่สูงขึ้นไปกว่านี้มากนัก ก็เชื่อว่า ปัญหาดังกล่าวจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ซึ่ง ธปท.ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะยังโตได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 3-5
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นไปเกิน 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจส่งผลให้การไทยขาดดุลบัญชีชำระเงินในปีนี้ จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเกินดุล แต่เชื่อว่าการขาดดุลจะอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจไทย
ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในตอนนี้ได้ส่งผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อของไทยที่คาดว่าภายในไตรมาสที่ 4 ของปี เงินเฟ้อพื้นฐานอาจปรับตัวสูงเกินร้อยละ 3 จากกรอบที่วางไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 โดยมีแรงผลักดันมาจาก 4 ปัจจัย ประกอบด้วย 1.การเพิ่มขึ้นของอุปทานในด้านราคาน้ำมัน และราคาอาหาร 2.ด้านอุปสงค์ ที่เริ่มพบว่าการอุปโภค บริโภคในโลกรวมถึงประเทศไทยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนปัจจัยที่ 3 คือ สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกและไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง และปัจจัยสุดท้ายคือการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งมีผลให้ผู้ประกอบการอาจตั้งราคาสินค้าสูงขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคอาจกักตุนสินค้าจนทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าตามมา
ขณะที่การปรับเพิ่มขึ้นค่าแรง สามารถทำได้ แต่ควรเพิ่มศักยภาพในการผลิตด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุล เพราะหากปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว อาจทำให้เกิดอำนาจซื้อมากกว่าอุปทาน เป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยืนยันว่า จะใช้นโยบายดอกเบี้ยดูแลเงินเฟ้อ ไม่ใช่ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความสับสนในการใช้เครื่องมือดูแลเศรษฐกิจ พร้อมยืนยันอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียและไม่ใช่ปัจจัยหลักมี่ทำให้เงินทุนไหลเข้า
สำหรับความกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนภายหลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยืนยันบริษัทประกันภัยในประเทศญี่ปุ่นมีสภาพคล่องเพียงพอในการดูแลความเสียหายในประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นต้องดึงเม็ดเงินลงทุนกลับประเทศด้วยการออกพันธบัตรเงินเยน
“ยังไม่พบการเคลื่อน ย้ายเงินแบบผิดปกติ จากเดิมที่คาดว่าจะมีบริษัทประกันภัยในญี่ปุ่น เตรียมขอไถ่ถอนพันธบัตรเพื่อ นำเงินกลับชดเชยความเสียหาย แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทประกันภัยญี่ปุ่น ได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลว่า หากมีความเสียหายสูงเกินกว่าที่บริษัทจะรับไหว ทางรัฐบาลจะเป็นผู้เข้ามาช่วยเหลือ และรับภาระส่วนนี้ให้แล้ว”
ทั้งนี้ สถาบันการเงินไทยขณะนี้ ยังไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งสาขาในไทย และสาขาที่อยู่ในญี่ปุ่น ทุกแห่งเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่นเดียวกับ ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่น ในไทย ไม่ได้รับความเสียหาย ยังสามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ
นายประสาร กล่าวด้วยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากผลกระทบจากประเทศญี่ปุ่น แต่เป็นผลมาจากบริษัทส่งออกของไทยกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์แข็งค่าของเงินเยนทำให้มีการเทขายเงินเยนออกมา จึงยืนยันค่าเงินบาทของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ซึ่งยังเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐาน
“ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G7) ได้เข้ามาแทรกแซงให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ไม่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาค”
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังต้องติดตามสถานการณ์เงินเยนต่อไป เพราะบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย อาจะมีการส่งเงินกลับเพื่อช่วยเหลือบริษัทแม่ในญี่ปุ่น ทำให้เงินทุนอาจจะไหลออก และเงินบาทก็จะอ่อนค่าลง แต่หากผู้ส่งออกไทยส่งออกสินค้าได้มากขึ้น เงินบาทก็มีแนวโน้มที่จะกลับมาแข็งค่าได้ แต่คงไม่มีนัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า หรือ อ่อนค่าเป็นพิเศษ