xs
xsm
sm
md
lg

ยิลด์บอนด์ฝอยทองยังคุ้มความเสี่ยง แอสเซทพลัสปั้นกอง5เดือนให้3%ต่อปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิน อุดมรัชตวนิชย์
บลจ.แอสเซท พลัส มองเศรษฐกิจโปรตุเกสยังแข็งแกร่ง ส่ง "กองทุนเปิดแอ็คทีฟเอฟไอเอฟ 2 (ACFIF2)" โรโอเวอร์อีกรอบ เลือกลงทุนอายุ 5 เดือน ล๊อกผลตอบแทน 3.00% ต่อปี เปิดขายครั้งเดียวในวันที่ 17 มี.ค. 2554นี้

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซทพลัส จำกัด  เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศโปรตุเกสปรับตัวดีขึ้นจากภาคการส่งออกสินค้าการเกษตรกรรมซึ่งเป็นธุรกิจหลักของประเทศเติบโตขึ้น ประกอบกับแนวโน้มอัตราการว่างงานอยู่ในระดับคงเดิมที่ 9% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี โดยปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกสยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนอยู่ โดยตั้งแต่ต้นปีรัฐบาลสามารถระดมเงินจากการขายพันธบัตรได้ตามที่คาดหมายไว้ ทั้งนี้ ปริมาณเงินที่ระดมได้จากการขายพันธบัตรตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันยังคงมากเพียงพอที่ส่งผลให้ฐานะคงคลังของรัฐบาลโปรตุเกสยังอยู่ในระดับที่ดี โดยในปี 2554 รัฐบาลโปรตุเกสจะยังคงดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล ในระดับสูงที่ 6.8% ของ GDP แต่ยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 7-8% และคาดว่าจะลดเหลือ 4-5% ในปี 2555

ทั้งนี้ ประชาชนอาจมีความกังวลต่อปริมาณหนี้สาธารณะของโปรตุเกสที่อยู่ที่ 80-90% ของ GDP โดยรวม และยังคงทรงตัวอยู่ในระดับนี้จนถึงปี 2555 แม้จะอยู่ในระดับสูงแต่ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่นในแถบยุโรป ซึ่งอาจส่งผลกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในโปรตุเกสอยู่บ้าง แต่เนื่องจากกลุ่มธนาคารในโปรตุเกสถือเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจหลักของประเทศคือ กลุ่มธุรกิจเกษตรกรรม และเป็นธนาคารที่ไม่มีภาระหนี้สินด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้รัฐบาลมีภาระในการอุดหนุนเงินเพื่อช่วยเหลือธนาคารค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป นอกจากนี้ โปรตุเกสยังคงมีวงเงินช่วยเหลือสำรองฉุกเฉิน (European Financial Stability Facility-EFSF) ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ในปริมาณสูง ทั้งนี้ จากมุมมองของประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ EFSF ยังเห็นว่าประเทศโปรตุเกสยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนเงินสำรองฉุกเฉินของ EFSF เนื่องจากรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในประเทศที่รัดกุม

อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายเดือนนี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตามผลการประชุมใหญ่สมัยวิสามัญ (Extraordinary EU meeting) ถึงการกำหนดมาตรการและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศที่ใช้วงเงินจากกองทุนเงินสำรองฉุกเฉินมูลค่า 440,000 ล้านยูโร ของ EFSF และ แผนการดำเนินงานหลังจากระยะเวลาการจัดตั้งกองทุนเงินสำรองฉุกเฉินสิ้นสุดลงในเดือน มิถุนายน 2556 ทั้งนี้ หากที่ประชุมมีการตั้งวงเงินสำรองฉุกเฉินให้กับโปรตุเกสเพิ่มเติมจะส่งผลให้รัฐบาลโปรตุเกสจะมีสภาพคล่องทางการเงินดียิ่งขึ้น จากการที่รัฐบาลยังไม่เคยมีการเบิกใช้เงินสำรองดังกล่าว

นายวิน กล่าวต่อว่า ในส่วนมุมมองการลงทุนในตราสารหนี้โปรตุเกสนั้น อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรโปรตุเกสยังสามารถให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับระดับความเสี่ยง ดังนั้น ในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ บริษัทเสนอการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกสในระยะเวลาสั้น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในประเทศและไม่เสียโอกาสการลงทุนในระหว่างรอการทยอยปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศดังนั้น ในวันที่ 17 มีนาคม 2554 กองทุนเปิดแอ็คทีฟเอฟไอเอฟ 2 (ACFIF2) ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่เปิดเสนอขายเป็นรอบระยะเวลา โดยในรอบการลงทุนรอบใหม่ กองทุนจะพิจารณาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกส 100% อายุประมาณ 5 เดือน คาดว่าสามารถให้ผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายได้ที่ระดับ 3.00% ต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น