สำรวจตลาดกองทุนรวม 2 เดือนแรกปีกระต่าย ยังฮึดสู้ดอกเบี้ยไม่ขึ้น เงินลงทุนรวมทั้งระบบยังติดลบกว่า 3 หมื่นล้านบาท แม้บลจ.จะโหมขายกองทุนใหม่รายวัน "ไทยพาณิชย์" ยังเร่งไม่ขึ้น เงินลงทุนในพอร์ตไหลออกกว่า 2.4 หมื่นล้าน ปล่อยให้ผู้นำอย่าง "กสิกรไทย" นำหน้าต่อ ล่าสุด ตลาดกองทุนเงินฝากแบงก์อาหรับฟีเวอร์ บลจ.แห่ลงทุนหวังชดเชยบอนด์กิมจิครบอายุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจภาพรวมการลงทุนในธุรกิจกองทุนรวม 2 เดือนแรกของปีพบว่า ถึงแม้ว่าบรรดาบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) จะเดินหน้าเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือนไปจนถึง 1 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยเงินลงทุนที่ครบอายุจากกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ได้ทั้งหมด โดยทั้งระบบพบว่ามีเงินลงทุนลดลงเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 31,172.99 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลดลงจากเงินลงทุนรวม 2,031,655.08 ล้านบาทในช่วงสิ้นปีก่อนหน้านี้ มาอยู่ที่ 2,000,482.09 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์
ทั้งนี้ จากการสำรวจเงินลงทุนในพอร์ตของบริษัทจัดการแต่ละแห่ง พบว่า บลจ.ไทยพาณิชย์ มีสินทรัพย์ลดลงมากที่สุดถึงกว่า 24,470.72 ล้านบาท ส่งผลให้สินทรัพย์ล่าสุดขยับลงมาอยู่ที่ 450,160.11 ล้านบาท จากสินทรัพย์รวม 474,630.83 ล้านบาทในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บลจ.ไทยพาณิชย์ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 เช่นเดิม
ในขณะที่ผู้นำตลาดอย่าง บลจ.กสิกรไทย ในช่วง 2 เดือนแรกก็มีเงินลงทุนรวมในพอร์ตลดลงเช่นกัน แต่ลดลงไม่มากคิดเป็นจำนวนเงินรวม 3,799.97 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้สินทรัพย์ในส่วนของกองทุนรวมล่าสุด ยังเป็นอันดับ 1 ด้วยเงินลงทุนรวม 478,092.98 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ บลจ.กรุงไทย ซึ่งมีสินทรัพย์รวมเป็นอันดับ 3 กลับยังสามารถระดมทุนเข้าพอร์ตได้อย่างต่อเนื่องจากการเสนอขายกองทุนตราสารหนี้กองใหม่เพื่อรองรับกองทุนเก่าที่ครบอายุ โดยในช่วง 2 เดือนแรกสามารถระดมทุนเข้าพอร์ตได้อีกกว่า 12,394.55 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้น ทำให้บลจ.ต่างเร่งออกกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยกองทุนที่ออกมาส่วนใหญ่ มีนโยบายลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนในในต่างประเทศเอง พบว่าเงินฝากแบงก์ต่างประเทศต่างได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเงินฝากของธนาคารในสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรสต์ สาธารณรัฐอาหรับ ที่ยังให้ผลตอบแทนสูงหลังจากหักต้นทุนป้องกันความเสี่ยงค่าเงินออกไปแล้ว นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณการกลับเข้าไปลงทุนในเกาหลีใต้อีกครั้งด้วย
ล่าสุด บลจ.ไทยพาณิชย์ เสนอขายกองทุนใหม่อีก 3 กองทุน ซึ่งประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์พันธบัตรรัฐบาล 6M93 (SCBGB6M93) ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตั๋วเงินคลังและเงินฝากประจำกองทุนมีอายุโครงการประมาณ 6 เดือน มีขนาดโครงการ 2,000 ล้านบาท คาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 2% ต่อปี กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ 6M10 (SCBFI6M10) เป็นกองทุนที่ลงทุนในเงินฝากธนาคาร บาร์เคลย์/ธนาคาร HSBC / ธนาคาร National Bank of Abudhabi สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และเงินฝากธนาคาร Union National Bank สาธารณรัฐอาหรับ เอมิเรสต์ และหุ้นกู้ระยะสั้นธนาคารทหารไทย/ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และพันธบัตรรัฐบาลไทย กองทุนมีอายุโครงการประมาณ 6 เดือน มีขนาดโครงการ 5,000 ล้านบาท ประมาณการณ์ผลตอบแทน 2.75% ต่อปี และกองทุนที่สาม คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ 3M5 (SCBFI3M5) เป็นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย เงินฝากธนาคารออมสิน และ หุ้นกู้ระยะสั้นธนาคารทหารไทย/ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) /เงินฝากธนาคาร Union National Bank สาธารณรัฐอาหรับ กองทุนมีอายุโครงการ 3 เดือน มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาทและคาดการณ์ผลตอบแทนประมาณ 2.5% ต่อปี โดยทั้ง 3 กองทุน จะเสนอขายหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 8 - 14 มี.ค.นี้
ส่วนบลจ.กสิกรไทย อยู่ระหว่างการเปิดขายกองทุนใหม่ 2 กองทุนระหว่างวันที่ 8-14 มีนาคมนี้ ซึ่งมีทั้งกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ และกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น โดยกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 1 ปี ซี (KFF1YC) มีระยะเวลาลงทุนประมาณ 1 ปี ขนาดกองทุน 5,000 ล้านบาท มุ่งในตราสารหนี้ต่างประเทศคุณภาพดีเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจ พร้อมนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน โดยจะลงทุนประมาณ 55% ในตราสารหนี้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (KEXIM) ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลเกาหลีใต้ถือหุ้น 100% และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ A+ จาก FITCH ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝากประจำ 1 ปี ของสถาบันการเงินในสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ ได้แก่ ธนาคาร Union National Bank (UNB) ธนาคาร Emirates NBD หรือธนาคาร Barclays อันดับความน่าเชื่อถือจาก FITCH ที่ A+ / A+ และ AA- ตามลำดับ โดยกองทุนนี้จะมีประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายกองทุนอยู่ที่ 3.10% ต่อปี
ขณะที่กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ 6 เดือน เอ็กซ์ (KFI6MX) มูลค่า 10,000 ล้านบาท จะเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหลัก ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝากประจำ 6 เดือนของสถาบันการเงินในประเทศ อาทิ ธนาคารออมสิน หรือธนาคารกสิกรไทย พร้อมทั้งลงทุนในเงินฝากของธนาคาร Union National Bank หรือธนาคาร Emirates NBD ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอกาสรับผลตอบแทนอยู่ที่ 2.60% ต่อปี