กองบอนด์ระยะนั้นยังน่าลงทุน "แอสเซท พลัส" โรลกองเกาหลีที่ครบอายุ ไปแลงทุนบอนด์โปรตุเกสแทน ล็อคเงิน 8 เดือน ชูยิลด์ 3.00% เปิดขายวันที่ 21 ก.พ.นี้ ด้าน บลจ.ยูโอบี เปิดขายกองตราสารหนี้ระยะสั้น "ยูโอบี เอฟไอเอฟพลัส 6/5" ชูผลตอบแทนประมาณ 2.15% เปิดขาย IPO ครั้งเดียว 15 - 21 กุมภาพันธ์นี้
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศโปรตุเกสปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจของโปรตุเกสเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว เช่น ตัวเลขผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial production - IP) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (y-o-y) ตัวเลข GDP ในไตรมาส 4/2553 เติบโต 1.2% แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แม้จะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลในเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศโปรตุเกส และส่งผลให้ความกังวลในเรื่องความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้โปรตุเกสลดลงด้วย โดยสะท้อนจากค่า Credit Default Swap - CDS ปรับลดลงจากระดับ 540 สู่ระดับ 450 จุด
นายวิน กล่าวต่อว่า ในด้านมุมมองการลงทุนในตราสารหนี้โปรตุเกส อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนยังสามารถให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับระดับความเสี่ยง โดยในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ บริษัทยังนำเสนอการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกสในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 1 ปี เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนในตราสารหนี้ที่ยังต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศ
ดังนั้น ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 54 กองทุนเปิดแอ็คทีฟเอฟไอเอฟ 3 (ACFIF3) ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่เปิดเสนอขายเป็นรอบระยะเวลา จะพิจารณาลงทุนรอบใหม่ ในพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกส 100% อายุประมาณ 8 เดือน โดยคาดว่าสามารถให้ผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายได้ที่ระดับ 3.00% ต่อปี
"เราคาดว่า ในช่วงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้ การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1 ปี จะเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดี และไม่ทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีการปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต่อไป"นายวินกล่าว
ด้าน บลจ. ยูโอบี จำกัด รายงานว่า บริษัทได้เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ กองทุนเปิด ยูโอบี เอฟไอเอฟพลัส 6/5 โดยเปิดขายครั้งแรก (IPO) และครั้งเดียว ตั้งแต่วันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ 2554 กองทุนมีอายุโครงการประมาณ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้กองทุนดังกล่าวมีนโยบายการลงทุน ในตราสารหนี้ในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในดันดับที่สามารถลงทุนได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ เงินฝากในธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนทั่วไป
โดยกองทุนมีสัดส่วนการลงทุนในตั๋วเงินคลัง 30.90% ให้ผลตอบแทนที่กองทุนจะได้รับในรูปเงินบาทประมาณ 0.7323% หุ้นกู้ระยะสั้น 25% ให้ผลตอบแทนที่กองทุนจะได้รับในรูปเงินบาทประมาณ 0.6000% ตั๋วแลกเงิน 44% ให้ผลตอบแทนที่กองทุนจะได้รับในรูปเงินบาทประมาณ 1.0780% และอื่นๆ 0.10% ให้ผลตอบแทนที่กองทุนจะได้รับในรูปเงินบาทประมาณ 0.0006% รวมผลตอบแทนที่จะได้รับหลังหักค่าใช้จ่ายของกองทุนอยู่ที่ประมาณ 2.15%
ทั้งนี้ บลจ.ยูโอบี ได้เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ไปเมื่อเร็วๆนี้ คือ กองทุนเปิด ยูโอบี อินคัม เดลี (UOBID) มูลค่าโครงการ 5000 ล้านบาท ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) รวมทั้งอาจทำธุรกรรมการขายโดยมีสัญญาขายคืน (Repo) และธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน (Reverse Repo) ได้
โดยที่ กองทุนดังกล่าวเหมาะสำหรับ นักลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงจากการผันผวนของมูลค่าหน่วยลงทุนได้บ้าง และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนรับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก ลุงทนขั้นต่ำ 2,000 บาท (ครั้งแรก)