xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงวิกฤตญี่ปุ่นดึงเงินไหลกลับ นักวิชาการชี้ฉุดภาคส่งออกไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกสมาคมบลจ. เผยกองทุน FIF รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นน้อย ส่วนผลพวงต่อเศรษฐกิจไทย กระทบส่งออก และการท่องที่ยวในช่วงสั้นๆ ชี้อาจเห็นสัญญาณเงินไหลกลับสหรัฐ ด้านนักวิชาการระบุ แผ่นดินไหวกดจีดีพีแดนซากุระชะลอตัว 0.2% ห่วงส่งออกไทยชะลอตัว ฉุดเศรษฐกิจไม่เข้าเป้า



นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ที่เข้าไปลงทุนในประเทศญี่ปุ่นโดยตรงมีเพียงแค่ 1 กองทุน นอกนั้นจะเป็นกองทุน FIF ที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งบางกองทุนก็มีประเทศญี่ปุ่นอยู่ในพอร์ตประมาณ 10-20% แต่บางกองทุนก็ไม่มี ซึ่งโดยภาพรวมกองทุนFIF อาจจะได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย
ทั้งนี้ เราประเมินว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับ GDP ของญี่ปุ่นประมาณ 2% ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมของ GDP ติดลบ เรามองว่าไตรมาสแรกเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยญี่ปุ่นเองอาจจะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) แต่เราเชื่อว่าไตรมาสที่สองจะเริ่มดีขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเองพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และที่สำคัญฐานการผลิตก็ไม่ได้อยู่ในประเทศ ทำให้การส่งออกอาจจะกระทบบ้างเล็กน้อย
สำหรับประเทศไทยนั้นอาจจะได้รับผลกระทบในช่วงสั้นๆ เช่นการส่งออก และการท่องเที่ยว ส่วน Fund Flow อาจจะมีไหลไปตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากสัญญาเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มดีขึ้น หรือไม่ก็จะเข้าไปลงทุนในภูมิภาคเอเชียที่มีความน่าสนใจ

นางวรวรรณ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้นักลงทุนต่างชาติ และผู้จัดการกองทุนต่างชาติ อาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าจะประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เมื่อรัฐบาลประกาศชัดเจนแล้วเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น

ด้านรศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ภายหลังจากประเทศญี่ปุ่นต้องประสบกับภัยธรรมชาติแผ่นดินไหว ต่อด้วยคลื่นยักษ์สึนามิเข้าถล่มประเทศ เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมาในย่านอุตสาหกรรมและพื้นที่เกษตรกรรมนั้น ขณะนี้คาดได้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่นในปีนี้ จะเกิดการชะลอตัวลงประมาณ 0.2% จากที่ประมาณการไว้ที่ 1.7% เนื่องจากภาคการส่งออกของประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตลอดจนธุรกรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในภาครวมจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่นในปีนี้ จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 1.5% ซึ่งแน่นอนว่าต้องเกิดผลกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศก็มีไม่เพียงพอ เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดความเสียหาย อุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีไฟฟ้าเป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตจึงจำเป็นต้องหยุดชะงักลง รวมทั้งโรงกลั่นน้ำมันของประเทศญี่ปุ่น ก็ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ถึงขนาดต้องสั่งการให้ปิดตัวลง ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันในประเทศญี่ปุ่น มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยนี้เองจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้ ภาวะระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกเกิดการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะสั้น

ในส่วนของตลาดเงิน ตลาดทุนและตลาดทองคำ ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้เช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คาดการณ์ได้ว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นจะเกิดความผันผวนลดลง ในระยะกลางค่าเงินเยนจะเกิดการอ่อนตัวลง และระดับราคาทองคำจะเกิดการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะสั้น

ส่วนประเทศไทย ซึ่งมีการพึ่งพาภาคต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ทั้งความสัมพันธ์ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการนำเงินเข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในไทย ต้องหยุดชะลอตัวลง เนื่องจากญี่ปุ่นคงต้องมีการสนับสนุนความช่วยเหลือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างประเทศกับประเทศญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของภาคการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ภาคการส่งออกในช่วงระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า จะเกิดการชะลอตัวลง ซึ่งอาจจะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีการคาดการณ์กันว่า จะสามารถขยายตัวได้ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้อาจจะไปไม่ถึง เนื่องจากผลกระทบด้านการส่งออกที่ต้องชะลอตัวลง
กำลังโหลดความคิดเห็น