xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ ฝรั่งยังไม่ดึงเงินกลับ ห่วงประเด็นเม็ดเงิน FDI นักลงทุนญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติเผยเบื้องต้น ยังไม่พบสัญญาณเงินไหลออกหลังสึนามิถล่มญี่ปุ่น คาดกระทบสินเชื่อแบงก์ไทยและสาขาที่ตั้งในญี่ปุ่นน้อยมาก แต่พร้อมจับตาใกล้ชิด เหตุเป็นยักษ์เศรษฐกิจอันดับ 3 และเป็นห่วงประเด็นเม็ดเงิน FDI เพราะเป็นต่างชาติอันดับ 1 ที่ลงทุนในไทย หวังไม่ถึงขั้นย้ายฐานการผลิต

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เท่าที่ ธปท.เห็นข้อมูลในขณะนี้ ยังไม่พบกรณีนักลงทุนต่างชาติลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง (Risk Aversion) ในภูมิภาคนี้ เพื่อดึงเงินกลับไปช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่นหรือหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงขึ้น โดยเชื่อว่าเหตุการณ์สึนามิและแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นเป็นปัญหาเฉพาะเพียงประเทศเดียว จึงไม่น่าจะโยงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ขณะที่ หากค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นก็ไม่จริงเสมอไปที่เงินบาทต้องแข็งค่าตาม เพราะความสัมพันธ์สามารถเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

สำหรับกรณีที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นอัดฉีดสภาพคล่อง 15 ล้านล้านเยน ถือว่าเป็นเม็ดเงินสูงที่สุดในประวัติการณ์ เพื่อดึงความเชื่อมั่นกลับคืนมาและมีแนวโน้มจะเพิ่มวงเงินอีกในระยะต่อไปนั้น ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ญี่ปุ่นน่าจะมีความต้องการตามความจำเป็นและการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเกิดขึ้นเฉพาะภายในประเทศญี่ปุ่น จึงมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ด้านนายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า จากการสำรวจของสายเสถียรภาพสถาบันการเงินของ ธปท.เบื้องต้น พบว่า เหตุการณ์ในญี่ปุ่นส่งผลกระทบทางตรงต่อสถาบันการเงินไทยไม่มากนัก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยมีสินทรัพย์ค่อนข้างสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท และมีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ต่างชาติประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเฉพาะสินเชื่อปล่อยให้แก่ญี่ปุ่นมีสัดส่วนไม่มาก เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีฐานะดี ทำให้มีการขอสินเชื่อค่อนข้างน้อย

ส่วนของสาขาธนาคารพาณิชย์ไทยในญี่ปุ่นก็มีไม่กี่แห่ง ถือว่าเล็กน้อยมาก อย่างไรก็ตามต้องรอดูประเมินจากฝ่ายนโยบายการเงินที่พิจารณาในแง่ของเศรษฐกิจก่อนถึงจะประเมินมายังสถาบันการเงินโดยรวมต่อไปได้

นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน เปิดเผยว่า เหตุการณ์ในญี่ปุ่นเกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีขนาดโตเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐ และมีการบริโภคน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของโลก อีกทั้งในด้านอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นเป็นประเทศต้นน้ำของไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทุกอย่างยังไม่สงบนิ่ง จึงต้องติดตามดูสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 20 เม.ย.นี้จะนำปัจจัยญี่ปุ่นมาพิจารณาร่วมด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่น 10.5% และมีการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นประมาณ 18% และสิ่งที่สำคัญ คือ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในหลายอุตสาหกรรม และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศไทยค่อนข้างมาก ซึ่งผลกระทบระยะสั้นต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด ส่วนระยะยาวเป็นไปได้ที่นักลงทุนญี่ปุ่นอาจมีการกระจายความเสี่ยงการผลิตหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ไม่น่าจะถึงขั้นย้ายฐานการผลิตออกจากไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น