ก.ล.ต. ประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มีผลบังคับใช้ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ยังต้องรอลุ้น
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ประกาศหลักเกณฑ์ที่รองรับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ infrastructure fund มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา โดยประกาศดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นกองทุนที่มีมีลักษณะเป็นกองทุนปิด โดยมีเงินทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท โดยกำหนดให้สามารถลงทุนโดยตรงในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน หรือลงทุนโดยถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในบริษัทที่มีการลงทุนในหรือมีรายได้หลักจากกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่งทางราง ทางพิเศษ ไฟฟ้า น้ำประปา สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม รวมถึงพลังงานทางเลือกได้ และมีมูลค่าการลงทุนในแต่ละกิจการไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังสามารถลงทุนในโครงการที่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ (greenfield project) ได้ แต่หากมีสัดส่วนการลงทุนที่สูงจะต้องเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น
ส่วนการจัดสรรหน่วยลงทุน กำหนดให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันสามารถถือหน่วยลงทุนได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้น เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม ส่วนสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนโดยบุคคลต่างด้าว (foreign limit) กำหนดให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามกฎหมายที่ควบคุมกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมจะลงทุน และประเด็นสุดท้ายคือ จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิ และห้ามจ่ายเงินปันผลกรณีที่กองทุนรวมยังมียอดขาดทุนสะสม
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า การลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และควรจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนในกองทุนรวมนี้ ซึ่งขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างขอความสนับสนุนจากกรมสรรพากรและกรมที่ดินในการให้กองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี รวมทั้งได้รับลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วย
ทั้งนี้ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นเครื่องมือระดมทุนหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกในการลงทุน โดย ก.ล.ต. คาดว่า เม็ดเงินลงทุนในกองทุนรวมนี้จะมาจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาครัฐทั้งด้านงบประมาณและหนี้สาธารณะ โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) และผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดหลักเกณฑ์เพื่อเตรียมตัวในการยื่นขอจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมดังกล่าวได้