xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จัก “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน” กันเถอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาออกประกาศหลักเกณฑ์อนุญาตการจัดตั้ง “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน” หรือ infrastructure fundซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย สอดคล้องกับความต้องการของประเทศที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ให้ทันต่อความต้องการของประชาชน จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทนี้ให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุน

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไปเพื่อนำไปใช้พัฒนากิจการสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยสามารถลงทุนได้ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นของภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นสัมปทานของเอกชน เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ทางพิเศษ หรือทางสัมปทาน ท่าอากาศยานหรือสนามบิน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม ระบบขนส่งทางราง (เช่น รถไฟฟ้า รถใต้ดิน ฯลฯ) ซึ่งจะมีการระบุไว้อย่างชัดเจนในรายละเอียดโครงการจัดการและหนังสือชี้ชวนว่า จะนำเงินไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทใดบ้าง

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเน้นรายได้จากการประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น หากลงทุนในกิจการของการทางพิเศษ กองทุนนั้นก็จะได้รับผลประโยชน์จากการเก็บค่าผ่านทาง โดยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสามารถนำเงินที่ระดมทุนจากผู้ลงทุนไปลงทุนในทรัพย์สินของโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งที่ดำเนินการแล้ว (brownfield project) และที่ยังไม่เริ่มก่อสร้างหรือยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ (greenfield project) ได้ โดยทำได้ทั้งการลงทุนโดยตรงในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน หรือลงทุนโดยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรือมีอำนาจควบคุมในบริษัทที่มีทรัพย์สินหรือรายได้จากกิจการโครงสร้างพื้นฐานไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของสินทรัพย์รวมหรือรายได้รวม

เช่นเดียวกับการลงทุนทั่วไป การพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลของกองทุนรวมที่สนใจจะลงทุนให้ดี โดยเรื่องหลักๆ ที่ต้องให้ความสนใจ ได้แก่ (1) ทรัพย์สินที่นำมาระดมทุนในโครงการว่า เป็นประเภทที่มีความเสี่ยงสูงหรือต่ำ ให้ผลตอบแทนที่แน่นอนสม่ำเสมอหรือขึ้นลงตามผลประกอบการ (2) หนึ่งกองทุนรวมอาจจะมีหน่วยลงทุนหลายชนิด หรือหลาย class เพื่อที่จะสามารถขายให้แก่ผู้ลงทุนต่างประเภทที่สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับต่างกัน ผู้ลงทุนจึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและข้อจำกัดของหน่วยลงทุนในแต่ละ class ให้ถ่องแท้ (3) อัตราส่วนการกู้ยืมเงินของกองทุน เช่น หากมีอัตราส่วนการกู้ยืมเงินมาก จะมีความเสี่ยงสูงหรือไม่ (4) กรณีเป็นการลงทุนใน greenfield project  อาจจะมีความเสี่ยงจากการก่อสร้างเสร็จไม่ทันกำหนด หรือค่าก่อสร้างสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ และ (5) ความเสี่ยงอื่นๆ  เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ความเสี่ยงด้านการเมือง และเหตุสุดวิสัยต่างๆ เป็นต้น

เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ลงทุนจะได้รับข้อมูลเพียงพอต่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุน ในการจัดทำรายละเอียดโครงการจัดการและหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมประเภทนี้ ก.ล.ต. จะกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต้องมีที่ปรึกษาทางการเงินทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและประเมินมูลค่าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำมาระดมทุน รวมถึงช่วยดูแลในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลสำคัญๆ ให้แก่ผู้ลงทุนด้วย อีกไม่นานเกินรอท่านผู้อ่านก็จะมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นสินค้าใหม่ในตลาดทุนไทยให้ลงทุนได้เพิ่มเติมแล้วค่ะช
กำลังโหลดความคิดเห็น