สภาที่ปรึกษาฯ แนะปฏิรูป ร.ฟ.ท.แทนการแปรรูป ชี้ปมลึก เหตุใดที่ผ่านมาภาครัฐเน้นการส่งเสริมระบบขนส่งทางรถยนต์ ทั้งที่รู้ว่าต้นทุนสูงกว่าทางน้ำ-ระบบราง ถึง 20% ของมูลค่าการส่งออก ด้านประธานสหภาพฯ ไม่ขัดข้อง ห่วงแผนโยนหนี้ค่าก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ 3.5 หมื่นล้าน ผวา ร.ฟ.ท.แบกหลังแอ่น
นายณรงค์ เพชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ปฏิรูปการรถไฟเข้มแข็ง” เพื่อระดมความคิดเห็นและชี้แจง แผนปฏิรูป ร.ฟ.ท.ซึ่งผลที่ได้จะนำเสนอต่อภาครัฐบาล ไปกำหนดแนวทางต่อไป โดย นายณรงค์ มองว่า ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยละเลยการพัฒนาระบบขนส่งทางราง แต่กลับมุ่งเน้นการขนส่งทางรถยนต์เป็นหลัก ทั้งที่ไทยมีความพร้อมด้านระบบรางและการขนส่งทางน้ำ ที่มีต้อนทุนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับรถยนต์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยมีต้นทุนการขนส่งสินค้าออกต่างประเทศสูงถึงร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่ง ซึ่งถือว่าสูงมาก หากเทียบกับต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่เน้นการขนส่งแบบเชื่อมโยงโดยเฉพาะระบบราง แต่ไทยมีการวางกรอบการบริหารงานเกี่ยวกับระบบรางค่อนข้างช้ามาก และมักจะพูดอยู่เสมอหากกิจการใดขาดทุนก็ให้แปรรูป จนทำให้เกิดการมองว่า จะกลายเป็นกิจการของต่างชาติไป ตนจึงเห็นว่า ควรหันมาใช้การปฏิรูประบบการทำงานแทน ซึ่งที่ผ่านก็ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ
“แม้ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.จะมีปัญหาขาดทุน แต่สามารถปฏิรูปแทนการแปรรูปได้ แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ หากมีการปฏิรูป การบริหาร การบริการและการจัดการและอื่นๆ ได้ เชื่อว่า จะแข่งขันและวางกรอบการบริหารการจัดการได้ดี แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลว่าจะให้ปฏิรูปอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายรอความชัดเจนจากรัฐบาล”
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ทางกลุ่มสหภาพไม่ขัดข้อง และเห็นด้วยหากรัฐบาลจะปฏิรูปแทนการแปรรูป ซึ่งที่ผ่านมาได้ยื่นเงื่อนไขให้กับรัฐบาล หากต้องการปฏิรูป ร.ฟ.ท.ก็พร้อมดำเนินการ เพราะเชื่อว่า ร.ฟ.ท.โดยเฉพาะระบบรางคู่ ที่กล่าวถึงกันมานานแล้ว ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.สามารถแข่งขันต่างประเทศได้
“ที่ผ่านมา ก็ยังไม่เห็นแนวทางความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะให้ปฏิรูปอย่างไร เพราะหากดูจากระบบรางคู่ หากสามารถปฏิรูปและมีแผนก่อสร้างชัดเจน นอกเหนือจากจะช่วยระบบการขนส่งโดยเฉพาะโลจิสติกส์ ยังสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้เต็มที่ ไม่เพียงแต่ในเรื่องของการปฏิรูประบบรางเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลต้องมีการปรับเปลี่ยนหัวจักร เส้นทาง เพราะเห็นว่ามีการใช้มานานแล้ว หากปรับและย่นเส้นทางได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการขนส่ง”
ส่วนความพร้อมการเปิดให้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ที่จะเชื่อมไปสนามบินสุวรรณภูมิ สหภาพฯ ร.ฟ.ท.ไม่ขัดข้องหากจะเปิดดำเนินการเดินรถในวันที่ 5 ธันวาคม 2552 นี้ แต่สิ่งที่ติดขัดโดยเฉพาะเมื่อแอร์พอร์ตลิงก์อยู่ภายใต้การบริหารงานของ ร.ฟ.ท.นั้น หนี้สะสม 35,000 ล้านบาทจากการก่อสร้าง หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ และสุดท้ายหากให้ ร.ฟ.ท.เป็นผู้รับผิดชอบเงินจำนวนดังกล่าวก็ถือเป็นภาระภาษีของประชาชนโดยตรง ซึ่งรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับสาธารณะและสหภาพฯ