xs
xsm
sm
md
lg

ปี53ตลาดบอนด์โต11ล้าน ต่างชาติซื้อสุทธิกว่า1.31แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สรุปยอดตราสารหนี้ออกใหม่ทั้งปี 53 เพิ่มขึ้น 11 กว่าล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้กว่า 4.29 แสนล้านบาท ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่ธปท. ระดมทุนกว่า 9.7 ล้านล้านบาท ส่วนการซื้อขายในตลาดรอง มีมูลค่าเฉลี่ยวันต่อวันอยู่ที่ 10,842.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% ด้านนักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิกว่า 1.31 แสนล้านบาท

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ Thai BMA สรุปถึงความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2553 ที่ผ่านว่า มูลค่าการออกตราสารหนี้หนี้ใหม่โดยรวมของปี 2553 เท่ากับ 11,622,263.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณ 7% โดยพันธบัตรรัฐบาลมีมูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่ 429,154 ล้านบาทลดลงประมาณ 14% จากปีก่อนหน้า สำหรับพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ที่ออกใหม่ มีมูลค่าสูงถึง 9,714,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 15%

ทั้งนี้ การที่หุ้นกู้ออกใหม่ในปี 2553 มีมูลค่าลดลงจากปีก่อนหน้านั้น ไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนแล้ว เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยที่คาดว่าจะปรับขึ้นในปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต่าง ๆ เร่งระดมทุนผ่านหุ้นกู้ล่วงหน้าไปแล้วในปี 2552 แต่ในปี 2553 นั้น พบว่าบริษัทที่มีขนาดกลางและเล็ก หรือมีอันดับความน่าเชื่อถือไม่สูงมากนัก หันมาระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้มากขึ้น เห็นได้จากจำนวนรุ่นหุ้นกู้ออกใหม่ในปี 2553 ที่มีถึง 154 รุ่น เพิ่มขึ้นจาก 112 รุ่นในปี 2552

สำหรับหุ้นกู้ที่ออกใหม่ในปี 2553 กว่า 80% เป็นการเสนอขายหุ้นกู้แบบเฉพาะเจาะจง ส่วนที่เหลือเป็นแบบการขายให้กับประชาชนทั่วไป และกลุ่มที่มีการะดมด้วยการออกหุ้นกู้มากที่สุดได้แก้ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ 26% รองลงมาได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 20% ซึ่งการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 2553 ที่ผ่านมาส่งผลให้บริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ระดมทุนผ่านหุ้นกู้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปี 2552

"ถึงแม้ว่าหุ้นกู้ออกใหม่ของไทยส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่อายุไม่เกิน 5 ปี แต่ปี 2553 ถือว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่ได้เห็นพัฒนาการของตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ภาคเอกชน ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีบริษัทใหม่ ๆ ที่ไม่เคยออกหุ้นกู้เลยหันมาระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ใน 2553 ถึง 9 ราย คิดเป็นสัดส่วน 12% ของมูลค่าหุ้นกู้ออกใหม่ทั้งหมด" นายนิวัฒน์ กล่าว

ด้านการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง นายนิวัฒน์กล่าวว่า หากตัดมูลค่าการซื้อขายในพันธบัตร ธปท. ออกพบว่า มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยวันต่อวันในปี 2553 อยู่ที่ 10,842.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 อยู่ประมาณ 22% และหากพิจารณาจากอัตราหมุนเวียนเปลี่ยนมือของตราสาร หรือ Turnover Ratio พบว่า การซื้อขายตราสารหนี้ประเภทตั๋วเงินคลังมี Turnover Ratio สูงสุดคิดเป็น 11 เท่า เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 6 เท่า ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาล มี Turnover Ratio ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้โดยรวมของตราสารหนี้ทุกประเภท พบว่า ในปี 2553 เท่ากับ 2.46 เท่า ลดลงเล็กน้อยจากปี 2552 ที่อยู่ที่ 2.48 เท่า

สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทยในปี 2553 ที่ผ่านมานั้น พบว่า ณ สิ้นปี 2553 มูลค่าการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนเท่ากับ 4.16% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ทั้งตลาด ส่วนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศหากตัดมูลค่าการซื้อขายพันธบัตร ธปท. ออก พบว่า นักลงทุนต่างประเทศมีสถานะซื้อสุทธิประมาณ 131,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่มีสถานะซื้อขายสุทธิเท่ากับ 6,230 ล้านบาท โดยการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศในปี 2553 ปรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนปี 2552

"การยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีนักลงทุนต่างประเทศในตราสารหนี้ไทยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในระยะสั้น ๆ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดหลังจากประกาศใช้มาตรการก็คือพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศที่หันมาลงทุนตราสารหนี้ระยะอายุน้อยกว่า 1 ปี เพิ่มขึ้นจากช่วงหลายเดือนก่อนหน้า ซึ่งเหตุผลน่าจะมาจากความกังวลเรื่องที่ว่าในอนาคตภาครัฐจะมีมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อควบคุมค่าเงินบาทอีกหรือไม่ ทำให้นักลงทุนต่างประเทศเลือกลงทุนในตราสารรุ่นอายุสั้น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนดังกล่าว" นายนิวัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น