xs
xsm
sm
md
lg

กูรูมองดอกเบี้ยไทยยังนิ่ง แม้เฟดปรับดบ.มาตรฐาน0.25%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล
 กูรูประเมินธนาคารกลางสหรัฐฯขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน 0.25%  ไม่กระทบต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศของไทย ส่วน ThaiBMA ชูพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังน่าลงทุน มั่นใจสร้างผลตอบเเทนที่ดีได้ให้กับนักลงทุน

 นายสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล Fund Super Mart Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป  (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่าทางยุโรปจะประกาศช่วยเหลือประเทศ Greece แต่ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด ทำให้ยังคงเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินยูโร และส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงอยู่

นอกจากนี้การประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้นสู่ 0.75% จาก 0.5% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ใช้ในการปล่อยกู้ฉุกเฉินให้กับธนาคารพาณิชย์

 ทั้งนี้การปรับขึ้นไม่กระทบต่อนโยบายการเงินในขณะนี้ แต่สร้างความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (FED Fund Rate) จะมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นความเสี่ยงกดดันการบวกของตลาดสินทรัพย์เสี่ยง แต่ความกังวลลดลงจากตัวเลข CPI ที่ประกาศออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า เฟด ยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ใกล้ 0% ไปอีกระยะหนึ่ง

 โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี Dow Jones ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า ด้วยปัจจัยสนับสนุนตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น 0.9% ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ และผลประกอบการของบริษัทในสหรัฐฯ ที่ออกมาดี สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียได้รับแรงกดดันจากการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ส่งผลให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ผันผวนต่อเนื่อง
 
ณัฐพล ชวลิตชีวิน
ขณะที่นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Discount Rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ของเฟดร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 0.75 จะทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศมีการขยับขึ้นหรือไม่นั้น

ในส่วนของประเทศไทย การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยน่าจะขึ้นกับสภาพคล่องทางการเงินในประเทศเป็นหลัก ซึ่งในภาวะปัจจุบันสภาพคล่องในระบบการเงินของไทยยังคงมีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นในระยะเวลาอันสั้นนั้นอาจจะไม่ง่ายนัก

นอกเหนือจากสภาพคล่องของไทยในเวลานี้ยังคงมีอยู่สูงแล้ว ในระยะอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ ก็จะมีเงินทุนซึ่งได้มีการนำไปลงทุนในกิมจิบอนด์ ประเทศเกาหลี กำลังจะครบกำหนด ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาประมาณ 300,000 – 400,000 ล้านบาทถ้าหากไม่มีการนำไปลงทุนต่อ ซี่งก็จะมีผลให้สภาพคล่องจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องไปได้อีกช่วงหนี่งด้วย

ส่วนแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยในระยะนี้จึงยังไม่น่าที่จะมีการปรับตัวขึ้นได้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจจะขึ้นในช่วงไตรมาสสี่ก็อาจจะชะลอตัวออกไปด้วยเช่นกัน ซึ่งหากทิศทางของดอกเบี้ย และสภาพคล่องเป็นไปอย่างที่คาดการณ์กัน พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังที่จะออกมาในรอบนี้ก็ต้องถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าจะดีไม่น้อยสำหรับในช่วงนี้

นายณัฐพล กล่าวว่า   ส่วนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ จำนวน 100,000 ล้านบาทของกระทรวงการคลัง การที่กำหนดให้ซื้อรายละ 1 ล้านบาทนั้น เป็นเพราะว่าทางกระทรวงการคลังคงต้องการให้มีการกระจายในวงที่ค่อนข้างกว้าง ดังนั้นแม้ว่าจะมีการเสนอความคิดเห็นว่าน่าจะมีการขยายเป็นให้ซื้อได้ไม่เกินรายละ 5 ล้านบาทก็ตาม ดังนั้นคงต้องรอดูว่าจะผลการจัดจำหน่ายจะออกมาอย่างไร แต่ยังเชื่อว่าน่าจะได้รับความสนใจมากพอสมควร

“ในแง่ของสถาบันการเงินที่จัดจำหน่ายถ้าขยายเพดานเป็นรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปก็น่าจะดี เพราะจะได้มั่นใจว่าสามารถที่จะจำหน่ายได้หมดไม่ยาก ในขณะที่กระทรวงการคลังก็มองในแง่ว่าต้องการกระจายให้กับประชาชนจำนวนมาก”นายณัฐพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของอัตราผลตอบแทน ที่ผู้ซื้อพันธบัตรออมทรัพย์จะได้รับประมาณ ร้อยละ 4  สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันขณะนี้ ต้องถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีมากทางหนึ่งสำหรับผู้มีเงินออม เนื่องจากในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงินยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ

 เช่นอัตราดอกเบี้นเงินฝากออมทรัพย์จะอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 0.5 ในขณะที่เงินฝากประจำ 1 -2 ปี ก็จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.25 -1.50 เท่านั้น หรืออย่างพันธบัตรอายุคงเหลือ 6 ปี ในตลาดตอนนี้อัตราผลตอบแทนก็จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ3.6 

เพราะฉะนั้นต้องถือว่าพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังที่จะออกมาซึ่งคาดว่าจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.1 – 4.2 จึง เป็นทางเลือกในการออมเงินที่น่าสนใจมากทีเดียวสำหรับคนที่มีเงินออม
 
กำลังโหลดความคิดเห็น