xs
xsm
sm
md
lg

กบข.เตรียมรับมือเงินเฟ้อดบ.ขาขึ้น ปรับการลงทุนป้องกันความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กบข. ปรับกลยุทธ์รับมือเงินเฟ้อ - ดอกเบี้ยขาขึ้นท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว ผลักดันผลตอบแทนตามเป้าหมายและป้องกันความผันผวน

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่าในปี 2553 กบข. ได้เตรียมศึกษาและปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางในทางที่ดีขึ้นในปีนี้ โดยเมื่อเศรษฐกิจมีการปรับตัวที่ดีขึ้น นับเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการจ้างงาน การบริโภค

การจับจ่ายใช้สอยสินค้าบริการให้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งคาดว่าในปีนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5-4.0 รวมถึงอัตราเงินเฟ้อจะขยับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.5 -3.5

ทั้งนี้ สิ่งที่กองทุนระมัดระวังคืออัตราเงินเฟ้อที่มาจากความต้องการสินค้าและบริการในท้องตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ดังนั้นเมื่อมีเงินมากกว่าปริมาณสินค้าและบริการก็จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขยับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5-3.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.9 ซึ่งจากการคาดการณ์ถึงภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว จึงถือเป็นปัจจัยหลักประการสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องพิจารณานโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง โดยปัจจุบันดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้น (อาร์พี) 1 วันอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.25 ซึ่งคาดว่าจะทยอยปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้นและหากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ขยับเพิ่มขึ้นตาม

นางสาวโสภาวดี กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ครึ่งปีหลังมีการคาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มตามดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนใน ตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาว กล่าวคือ ราคาตราสารหนี้อาจจะปรับตัวลดลง โดยที่ผ่านมา กบข. ได้มีการพิจารณาปรับการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวอย่างระมัดระวัง เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการลงทุนให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นได้อย่างทันการ รวมถึงป้องกันความผันผวนจากความเสี่ยงในการถือครองระยะยาว โดยหาโอกาสกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่น ๆ ให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนระยะยาวตามเป้าหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น