“กนง.คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ตามเดิมในการประชุมวันนี้ เนื่องจากการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยผ่อนคลายที่ระดับต่ำของ กนง. ควบคู่กับการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านกรอบงบประมาณขาดดุลและภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง น่าจะยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างมีเสถียรภาพ"
ในวันนี้ (13 ม.ค.53) คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) จะมีการประชุมรอบแรกของปี 2553 เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ทั้งนี้ แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น แต่เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีแนวโน้มต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายอีกหลายประการ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อชั่งน้ำหนักกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ที่แม้จะเริ่มมีแนวโน้มก่อตัวขึ้นแต่ส่วนใหญ่เป็นผลจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบและแรงกดดันที่มาจากทางด้านอุปทานเป็นหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า กนง.คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ตามเดิมในการประชุมวันนี้ (13 ม.ค. 53) เนื่องจากการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยผ่อนคลายที่ระดับต่ำของ กนง. ควบคู่กับการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านกรอบงบประมาณขาดดุลและภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง น่าจะยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างมีเสถียรภาพ
ในขณะที่ การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินไปสู่วัฏจักรที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในระยะถัดไปของธนาคารกลางชาติต่างๆ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย น่าที่จะเกิดขึ้นในลักษณะที่ระมัดระวัง โดยเห็นได้จากการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ตามเดิมในการประชุมวันที่ 8 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ของธนาคารกลางเกาหลีใต้ ซึ่งบ่งชี้ว่าทางการของเกาหลีใต้ยังคงมีความกังวลต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจถึงแม้ว่าประเทศจะมีสัญญาณของการเกิดภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ที่ค่อนข้างชัดเจนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียก็ตาม
ทั้งนี้ มุมมองเกี่ยวกับความเสี่ยงทั้งสองด้านของเศรษฐกิจไทย กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ... ยังคงไม่น่าไว้วางใจ
จากการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านต่างประเทศและเครื่องชี้ภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศ คงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในเส้นทางของการฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังในเชิงผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องของทางการ ตลอดจนปัจจัยทางเทคนิคหรือการเปรียบเทียบกับฐานที่ค่อนข้างต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า ยังคงมีคำถามว่าภาพในเชิงบวกของเศรษฐกิจไทยจะสามารถรักษาโมเมนตัมไว้ได้หรือไม่ เพราะแม้จะคาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจพลิกกลับมาขยายตัวในแดนบวกได้ในปี 2553 ที่กรอบร้อยละ 2.5-3.5 เทียบกับที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2552 โดยมีแรงส่งจากการฟื้นตัวของการส่งออก การใช้จ่ายของภาครัฐ และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่ก็ยังคงมีปัจจัยท้าทายอีกหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแกนหลักในโลกโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มจี 3 (สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น) แนวโน้มการดำเนินนโยบายไปในเชิงที่คุมเข้มมากขึ้นของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน เพื่อชะลอความร้อนแรงของการปรับตัวขึ้นของราคาสินทรัพย์และหลีกเลี่ยงการแตกตัวของภาวะฟองสบู่ ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศทั้งประเด็นเสถียรภาพการเมืองและความชัดเจนของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน อนึ่ง ปัจจัยท้าทายต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองเชิงบวกที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ... ยังค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะจากฝั่งอุปสงค์
แม้ว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของไทยอาจมีแนวโน้มก่อตัวขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอาจขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 3.0-4.0 (Year-on-Year: YoY) ในปี 2553 เทียบกับค่าเฉลี่ยติดลบที่ร้อยละ 0.9 ในปี 2552 แต่สาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลจากปัจจัยทางด้านอุปทานเป็นหลัก จากการคาดการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งจากแนวโน้มการทยอยถอยออกจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพและมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนด้านพลังงานให้กับประชาชนของรัฐบาลในระยะข้างหน้า ขณะที่ แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจยังมีค่อนข้างจำกัด โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน อาจจะปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.5 (YoY) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 0.3 (YoY) ในปี 2552 ซึ่งนับว่ายังไม่สูงไปกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.25 มากนัก นอกจากนี้ การคาดการณ์เงินเฟ้อของตลาดก็ยังไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้นจนน่ากังวล เห็นได้จากการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไทยที่จนถึงขณะนี้ยังแทบไม่เปลี่ยนแปลงหรือมีทิศทางที่ขยับลดลงเป็นส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับระดับเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นวันประชุม กนง.รอบที่แล้ว ทั้งนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์ที่ยังมีค่อนข้างน้อย ประกอบกับการคาดการณ์เงินเฟ้อของตลาดที่น่าจะยังไม่เร่งตัวสูงขึ้นเร็วในระยะเวลาอันใกล้นี้ น่าจะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ กนง.สามารถจะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเช่นปัจจุบันได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง